ม.อ.ปัตตานี Kick off เปิดตัว “APP TECH แก้จนคนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้” 10 เทคโนโลยี แก้ปัญหาความยากจนในชุมชนชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมปริชญากร สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรม Kick off การนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี “App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีแพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหัวหน้าโครงการ App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ กล่าวรายงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี และประธานโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ โดยมีหัวหน้าส่วนภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ เครือข่าย อว.ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี ภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมในพิธี
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในการเปิดงานว่า โครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ปีที่ 2 ภายใต้กรอบการวิจัย “พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม” ภายใต้แผนงานย่อยรายประเด็น “ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่นำทีมนักวิจัยโดยท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม ม.อ.ปัตตานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว ได้ดำเนินการกันอย่างเข้มแข็งร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และในโอกาสนี้ได้มีการยกระดับโมเดลแก้จนด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของงาน นั่นคือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาหนุนเสริม มีการคิดค้น สร้าง ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อมาทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการนำเสนอในครั้งทางทีมวิจัยได้นำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) “APP TECH แก้จนคนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้” ซึ่งได้นำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกระบวนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำให้เกิดเทคโนโลยีที่จะนำไปได้ใช้จริงในระดับชุมชนและครัวเรือน เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เพื่อพร้อมจะต่อยอด ขยายผล และประยุกต์ใช้ในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงโอกาสในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้การทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนโดยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สู่การพัฒนาพื้นที่นี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากกลไกภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มศักยภาพทั้งกำลังคนและกำลังการผลิตในภาคต่างๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นให้ครัวเรือนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว
เสาวนีย์ ดาโอ๊ะ
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี รายงาน