ข่าวเด่นประจำวัน

นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนจากทั่วประเทศ ร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชน ชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" ที่ปัตตานี สร้างพลังแห่งศรัทธา พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 22-24 มิ.ย.2565

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนจากทั่วประเทศ ร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชน ชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" ที่ปัตตานี สร้างพลังแห่งศรัทธา พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 22-24 มิ.ย.2565 

        นายบัญชา เตส่วน รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และ

โครงการการจัดการพื้นที่ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม:ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี จัดประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชน ชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย"ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2565 ณ ห้องน้ำพราว โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี

       การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 90 พรรษา เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการด้านไทยศึกษา ประเด็นวัฒนธรรรมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน

 

 นายบัญชา เตส่วน

รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี (ขวา)

     นอกจากนี้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ระหว่างอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เผยแพร่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ 3 จชต. 

       "จากการลงพื้นที่สำรวจใน 3 จชต. พบว่ามีศาลเจ้าจำนวนมาก ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน กระแสการเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนออกนอกพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่วัฒนธรรมความเชื่อยังคงอยู่ และชุมชนยังรักษาไว้ ได้แก่ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) อ.เมืองปัตตานี ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และอีกหลายศาลเจ้า" นายบัญชา กล่าวและว่า

        ความโดดเด่นของการประชุมครั้งนี้ ครบถ้วนทั้งเนื้อหาวิชาการความรู้ และลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสัมผัสวิถีแห่งศรัทธา เนื้อหา"วิชาการเข้มข้น" น่าสนใจจากนักวิชาการด้านวัฒนธรรมทั่วประเทศ ร่วมประชุมที่ปัตตานี "ชุมชนเลิศล้ำ" ตัวแทนกรรมการศาลเจ้าชุมชนฐานรากจากพื้นที่แนะนำศาลเจ้า สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ความเชื่อ พิธีกรรม และ"วัฒนธรรมเลิศลักษณ์" ควรค่าแก่การสืบสาน รักษา ด้วยศรัทธา เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนางานวิจัยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมต่อไปในพื้นที่ 3 จชต.

       "ขอเชิญผู้สนใจร่วมประชุมวิชาการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องน้ำพราว โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี วันที่ 24 มิถุนายน 2565  ผู้เข้าร่วมประชุม ลงพื้นที่ภาคสนามเดินทางไปเยี่ยมชมสักการะศาลเจ้า ได้แก่ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) อ.เมืองปัตตานี ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี /ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ และศาลเจ้าไต่เสี่ย อ.เมือง จ.นราธิวาส/ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ อ.รามัน จ.ยะลา" นายบัญชา กล่าวในที่สุด

        ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากมีผู้สนใจกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก ผู้จัดงานฯ จึงขออภัยปิดรับการลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม ท่านสามารถติดตามรายละเอียดการจัดงานและภาพกิจกรรมได้ทางเพจคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และเพจfb สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี สื่อมวลชนท่านใดสนใจร่วมทำข่าวพิธีเปิดงาน และลงพื้นที่ภาคสนาม ติดต่อได้ที่ คุณพัชรา ยิ่งดำนุ่น สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 081-540-1248 รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามทางเพจสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

 

 

 

ขอบคุณภาพ:

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ

รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี

อ.บัญชา เตส่วน รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี/ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

 

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

รายงาน

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com