ข่าวเด่นประจำวัน

รายงานพิเศษ : 30 ปี สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี จากอดีต สู่ปัจจุบัน "สื่อสาร สร้างสรรค์ ก้าวทันดิจิทัล เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์"

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

 รายงานพิเศษ : 30 ปี สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี จากอดีต สู่ปัจจุบัน "สื่อสาร สร้างสรรค์ ก้าวทันดิจิทัล เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์"

 คณะผู้บริหาร บุคลากร และอาจารย์ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ในยุคแรก

       จากระยะเวลาเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้ทดลองออกอากาศครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535

พัฒนาการแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 ช่วง

       ช่วงแรก ปี 2535-2550 รวม 15 ปี  บุกเบิก วางรากฐาน

       วัตถุประสงค์หลักสำคัญในการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในยุคแรก เพื่อสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยกับประชาชน เผยแพร่ความรู้วิชาการ และเป็นห้องปฏิบัติการฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษาในการเรียนการสอนด้านสื่อเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง

       ด้วยความที่เป็นสื่อวิทยุสถาบันการศึกษา วิทยุม.อ.ปัตตานี จึงมีบทบาทเด่นในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ งานวิจัย การบริการวิชาการ สู่ชุมชน มีลักษณะเด่นการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม ควบคู่กับความบันเทิง การจัดรายการเพลง สปอต โฆษณาประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนให้หน่วยงาน/คณะ/นักศึกษาและหน่วยงานภายนอก มาร่วมผลิตรายการของตนเอง เพื่อความหลากหลายของผู้ฟัง ผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงในช่วงเริ่มต้นนั้นเป็นอาจารย์ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ ประสบการณ์ ด้านสื่อเทคโนโลยี นิเทศศาสตร์ และภาษาไทย ทำให้สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี มีความโดดเด่นในเชิงเนื้อหา สาระ ความรู้ และความบันเทิง

       หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีในช่วงการบริหารยุคบุกเบิก วางรากฐาน ในช่วง15 ปี แรก ปี พ.ศ.2535 - 2550 ได้แก่ รศ.ดร คณิตา นิจจรัลกุล รศ.ดร.ชาลิสา มากแผ่นทอง และรศ.มนตรี มีเนียม

รศ.ดร.คณิตา นิจจรัลกุล  สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี   ท่านแรก (2535-2543) 2 สมัย

(ขอบคุณภาพ คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี)

 รศ.ดร.ชาลิสา มากแผ่นทอง แมคเดเนียล

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี (2543-2546)

 

รศ.มนตรี มีเนียม

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  (2546-2550)

        ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2550-2560  ปรับตัว กำหนดทิศทางใหม่ 

       ช่วง 10 ปีถัดมา เป็นช่วงการปรับตัวของสื่อสารเทคโนโลยีขนานใหญ่และมีระเบียบข้อกฎหมายด้านการส่งกระจายเสียงออกมารองรับ ทำให้วิทยุสถาบันการศึกษาต้องมีการปรับตัว ขณะเดียวกันคำนึงถึงรายได้ และการอยู่รอดในการประกอบกิจการ ช่วงสถานการณ์นั้น สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี อยู่ในช่วงรอยต่อของการพัฒนาว่าจะไปในทิศทางใด กำลังบุคลากรในขณะนั้นไม่เพียงพอ และบุคลากรเพิ่งเริ่มต้นบรรจุเข้าสู่ระบบของมหาวิทยาลัย ทิศทางการพัฒนาของสถานีวิทยุกระจายเสียงม.อ.ปัตตานี จำเป็นต้องปรับวางบทบาทให้สอดรับกับการปรับตัวและบทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในขณะนั้น จึงมีแนวคิดการปรับโครงการสื่อวิทยุกระจายเสียงให้ควบรวมกับงานด้านการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร ในการประชุมบอร์ดสถานีวิทยุฯ ที่มีอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ร่วมประชุมในขณะนั้น มองเห็นว่า บทบาทด้านการประชาสัมพันธ์ กับการงานข่าวนั้น แตกต่างกัน สื่อวิทยุมีลักษณะเฉพาะ ที่ไม่เพียงแต่บทบาทด้านสื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทการเป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ต้องทำงานเชิงรุก และปรับตัวตามระเบียบกฎหมายของกสทช. ซึ่งต้องทำแผนรองรับและแยกออกให้เป็นอิสระ จะสามารถพัฒนาบทบาทในการบริการเชิงสาธารณะได้มากขึ้น จากแนวคิดและวิสัยทัศน์ของอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ในการมองบทบาทสถานีวิทยุในช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนั้น จึงทำให้สถานีวิทยุ เป็นหน่วยงานอิสระ ขึ้นตรงต่อสำนักงานอธิการบดี (ปัจจุบัน หน่วยงานในสังกัดสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี) และมีหัวหน้าสถานีซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนด้านนิเทศศาสตร์คณะวิทยาการสื่อสาร มาช่วยมองทิศทางและบริหารงานหลังจากนั้นเป็นต้นมา ได้แก่ ผศ.ดร อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว และ ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ทำให้สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี มีบทบาทเด่นชัดในการเป็นวิทยุสถาบันการศึกษา และบทบาทการเป็นวิทยุสาธารณะ โดยมีวิสัยทัศน์ในการทำงานว่า "มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบวิทยุสาธารณะเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์" และมีสโลแกนว่า "107.25 คลื่นอาสา เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์" ระยะที่สองของพัฒนาการสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี จึงบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่สื่อสาร เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยทางสังคม จัดรายการพิเศษ เกาะติดสถานการณ์ความไม่สงบ และเตือนภัยพิบัติธรรมชาติ ผลิตรายการเนื้อหาที่ให้ความรู้ และเป็นช่องทางการประสานความช่วยเหลือ อีกทั้งยังนำวิทยุเคลื่อนที่ไปยังชุมชน จัดเวทีพูดคุย สะท้อนเสียงชาวบ้าน ปัญหา และความต้องการ เพื่อร่วมแก้ไข หนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยชุมชนบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง สถานีวิทยุม.อ.ปัตตานี เป็นช่องทาง และเวทีถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนไปยังผู้ชมผู้ฟัง เป็นการปรับตัวไปสู่สื่อใหม่ที่ผู้รับสารกลายเป็นผู้สื่อสารด้วยเองด้วย มีการพัฒนาเนื้อหารายการที่ผู้ฟังสามารถรับชมและรับฟังได้ไปพร้อมๆกันผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ วิทยุออนไลน์ และระบบเอฟ.เอ็ม.

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว 

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  (2551-2553)

ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา 

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  (2553-2661) 2 สมัย

       ระยะที่สาม ช่วง ปี 2560 -ปัจจุบัน  ก้าวสู่ยุคดิจิทัล 

       จากพัฒนาการแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี มีพัฒนาการและปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยมี ดร.อาทิตยา สมโลก อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เป็นหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ปัจจุบัน บุคลากรสถานีวิทยุฯ ทั้งฝ่ายข่าว ฝ่ายรายการ และช่างเทคนิค ได้รับการพัฒนาทักษะด้านสื่อใหม่ และเพิ่มเติมทักษะด้านดิจิทัล ฝึกการใช้โซเชียลที่เป็นที่นิยมของผู้รับสาร เช่น Tikkok ปรับช่องทางการสื่อสารเน้นโซเชียลมีเดีย เพิ่มยอดผู้ชมและติดตาม ผ่านกิจกรรม Live ทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยปรับปรุงห้องสตูดิโอใหม่ สำหรับการผลิตเนื้อหารายการทางสื่อโซเซียลโดยตรง รองรับเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ และหลายช่องทาง สร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับสารที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ปรับรายการจากห้องส่งกระจายเสียงมาใช้ห้องสตูดิโอใหม่ที่ผู้จัดรายการ สามารถรายงานข่าวสดจากนอกพื้นที่ จัดรายการนอกสถานที่ แบบreal time เพิ่มความสดใหม่ ทันเหตุการณ์ ซึ่งผู้ชมสามารถติดตามรายการต่างๆได้ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

 ดร.อาทิตยา สมโลก

หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี  (2561- ปัจจุบัน)


       จังหวะก้าวต่อไป

       ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี วันที่ 13 มีนาคม 2535 - วันที่ 13 มีนาคม 2565 สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ยังคงมุ่งมั่นในการผลิตเนื้อหารายการข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย การใช้ภาษาที่เข้าถึงง่ายสำหรับประชาชนในทุกกลุ่ม และยังคงเป็นเพื่อนใจชายแดนใต้ ไม่ว่ายามสุข หรือ ยามทุกข์ ร่วมแบ่งปัน ใส่ใจ ดูแล เคียงข้างกันตลอดไป 

       "30 ปี สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี สื่อสาร สร้งสรรค์ ก้าวทันดิจิทัล เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์"

 

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

รายงาน

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com