วันที่ 10 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประกอบพิธีฌาปนกิจ นายตะวัน พรหมประสิทธิ์ อายุ 67 ปี คนงานฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตจากการผูกคอ ณ บ้านพักคนงานในฟาร์มฯ สาเหตุการสันนิษฐานเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่และการให้การของชาวบ้านคาดเป็นการกระทำอันเกิดจากความรู้สึกน้อยใจ ซึ่งนายตะวัน หรือ ลุงน้อย ถูกคัดชื่อออกจากการเป็นคนงานฟาร์ม
ด้านนางอมรรัตน์ วงศ์เกียรติขจร คนงานฟาร์ม เล่าว่า นายตะวันเป็นหลานของแม่ ทำงานอยู่ที่ฟาร์ม บ.น้ำดำ ประมาณ 10 ปี อยู่ในกลุ่มคนงานรุ่นแรกๆ หลังจากเปิดฟาร์มอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 โดยอุปนิสัยชอบสันโดษ ไม่มีลูกเมีย อยู่บ้านพักคนงานในฟาร์ม เช้าไปทำงาน ถากหญ้าในฟาร์ม
"ได้พูดคุยกับแกถึงข่าวที่ติดประกาศเรื่องคัดชื่อคนงานออกโดยมีชื่อลุงอยู่ด้วย แกบอกว่าทราบเรื่องแล้ว แล้วแกจะทำงานอะไรต่อไป แกถาม" นางอมรรัตน์ กล่าวและว่า
คือแกอายุมากแล้ว เช้ามาแกก็มาทำงาน ถากหญ้าอยู่ข้างทาง พี่คิดว่าแกคงน้อยใจ อยู่นาน เขายังให้ออก แล้วแกจะทำอะไร แกมีสติดี พี่ว่าแกน้อยใจเลยทำแบบนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีการมาพูดคุย ปลอบใจ หรือ ว่าจะทำอย่างไรกับคนที่ถูกคัดชื่อออก ชาวบ้านก็เข้าใจไปต่างๆนาๆ อยากให้มีเวทีได้มาสื่อสารกันรับฟังชาวบ้านบ้างว่าเขาต้องการอย่างไร ต้องการความชัดเจนเรื่องการคัดชื่อคนงานออกว่ามีเกณฑ์อย่างไร และมีแผนจะช่วยเหลือแนะนำคนที่ถูกคัดชื่อออกอย่างไรบ้าง ต้องการความยุติธรรม และความชัดเจน
ด้านนางพวงแข จันทร์ศุกระ ออกจากทำงานฟาร์มมาแล้ว 2 ปี พี่สาวของนางสาวเพ็ญจันทร์ จันทร์ศุกระ ผู้ร่วมรวบรวม/ขอที่ดินจากชาวบ้านให้เข้าร่วมในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ตั้งแต่เริ่มตั้งฟาร์ม กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ควรจะเห็นใจความรู้สึกชาวบ้านบ้าง ชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่กันมา ทราบข่าวเรื่องนโยบายการลดอัตราการจ้างงานคนงานฟาร์ม แต่จะทำอย่างไร ให้ชาวบ้านที่ออกไปอยู่ได้ จะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าตัดขาด หรือ ลอยแพ บางคนแก่แล้ว เขามีความเคยชิน ผูกพันกับฟาร์ม บางคนมีภาระค่าใช้จ่ายลูกหลายคน จะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง
ด้าน พ.ท.สมร เอี้ยวงศ์ รองหัวหน้าคณะทำงานโครงการพระราชดำริ คณะที่ 2 จ.ปัตตานี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รอความชัดเจน จากกอ.รมน.ภาค 4 ว่าจะได้อัตรากำลังจ้างงานกี่คน นโยบายการลดอัตราการจ้างงานคนงานมีทุกปี ฟาร์มต้องบริหารจัดการเพื่อให้อยู่ได้ ชาวบ้านมาเรียนรู้ที่ฟาร์ม และกลับไปทำที่บ้าน เรามีแผนรองรับสำหรับคนงานที่ออกไป เขาเรียนรู้จากที่ฟาร์มไปปลูกที่บ้าน มีสวนข้างบ้าน เรารับซื้อผลผลิต หรือถ้าไม่มีที่ เราก็จัดสรรพื้นที่ว่างให้เข้ามาทำ ส่วนคนที่ยังอยู่บ้านพักก็อยู่ต่อได้แม้ไม่ได้ทำงานที่ฟาร์ม ยังเป็นสมาชิกฟาร์มอยู่ ฟาร์มยังช่วยเหลือสนับสนุน
ด้าน ร.ท.กฤตภาส ก้อนจินดา ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ กล่าวว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งใหม่ ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ทั้งคนงาน การเพิ่มกำลังผลิตของฟาร์ม การบริหารจัดการในด้านต่างๆ เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน มีอะไรก็อยากให้มาคุย บอกความต้องการ จะได้ช่วยกันประคับประคองกันไป และเห็นว่าคนงานเองก็ต้องปรับตัว คนงานน้อยลง งานเพิ่มขึ้น ต้องคิดวางแผนจัดการ เพิ่มผลผลิต บริหารงาน บริหารคนงาน งบประมาณ และค่าใช้จ่าย รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า
"ตอนนี้กำลังสร้างโรงเรือนปลูกผัก คาดว่าจะส่งมอบได้เดือน ธันวาคม 2564 จะปลูกผักในโรงเรือน เช่น ผักสลัด ขายได้ดี ปลาที่เลี้ยงในกระชัง เตรียมแปรรูปทำปลาส้ม เพิ่มมูลค่า เราทำปุ๋ยเอง และดินปลูก ใช้ในฟาร์ม และส่งขาย ส่วนพืชผัก ที่ปลูกทั้งโคกหนองนา มีถั่วผักยาว กระเจี๊ยบ ใบชะอม มะเขือ เก็บส่งขาย และฟาร์มเดิม ต้องบริหารจัดการหลายส่วนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตปลูกพืชผักให้มากขึ้น"
"จะทำให้ดีที่สุด ตั้งใจเน้น เรื่องปุ๋ย ประมง ซื้อพันธุ์ไก่ แปรรูปปลาส้ม เพิ่มกำลังผลิตปลูกผัก การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานโครงการบอนสีตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 " ร.ท.กฤตภาส กล่าวในที่สุด
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani