ผศ.ดร.นภดล ทิพยรัตน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
ผศ.ดร.นภดล ทิพยรัตน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า โครงการจัดประกวดชุดภาพถ่ายเล่าเรื่อง (Photo Story) เป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากโครงการหลักที่ ม.อ.ปัตตานีดำเนินการ คือ โครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองตานี ที่ผ่านมาเน้นในเขตตัวเมืองปัตตานี ครั้งนี้จะเป็นการขยายเขตพื้นที่รอบนอกยึด 3 เมืองหลัก คือ อ.โคกโพธิ์ เส้นทางคมนาคมทางรางที่เป็นทางหลักจาก 3 จังหวัดไปสู่ภายนอกที่เป็นทางหลัก อีกส่วนหนึ่งคือ อ.สายบุรี ในครั้งหนึ่งเคยเป็นจังหวัดทางใต้ ปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะน่าสนใจ และอำเภอมายอ ซึ่งเป็นวิถีชาวบ้าน เรื่องของเศรษฐกิจชุมชน มีความโดดเด่น เส้นทางมีความเชื่อมโยงระหว่างกัน
"อ.โคกโพธิ์ มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางคมนาคม เนื่องจากเป็นสถานีรถไฟหลัก เดิมชื่อว่า โคกโพธิ์ ปัจจุบัน สถานีรถไฟปัตตานี มุ่งเน้นโชว์ความเป็นรถไฟที่โคกโพธิ์ เนื่องจากมองว่า การคมนาคมทางรถไฟมีเสน่ห์หลายอย่างซ่อนอยู่ที่นี่ เช่น วิถีชีวิต ประเพณี 2 ข้างทาง รถไฟมีความน่าสนใจ มีความโดดเด่นของเส้นทางนี้ ม.อ.ปัตตานี มองว่า เป็นความสำคัญที่จะเชื่อมโยงเอกลักษณ์ปัตตานี 2 ข้างทางรถไฟ ในเส้นทางหาดใหญ่ - สุไหงโก-ลก ผ่าน 3 จชต.ซึ่งเดิมเรามีแผนจะเปิดเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรมในเร็วๆนี้" ผศ.ดร.นภดล กล่าวและว่า
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการหยุดเดินรถหลายขบวน และมีมาตรการต่างๆของทางภาครัฐออกมาในช่วงนี้ โครงการนี้เราปรับกระบวนการเริ่มต้นหลายอย่าง ทำงานร่วมกับ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ โดยม.อ.ปัตตานี สนับสนุนองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงาน เราจะโปรโมทการท่องเที่ยว การเชื่อมต่อเส้นทางต่างๆใน 3 จชต. ร่วมกับ หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานคร เป็นที่มาของการจัดประกวดภาพถ่ายในครั้งนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายวัฒนธรรม
"ภาพที่ส่งมา ต้องเกี่ยวข้องกับเส้นทางรถไฟ ในพื้นที่ 3 จชต. เชื่อมโยงไปยังหาดใหญ่ จุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟ สายนี้เรียกว่า "มณฑลปัตตานี" ปัจจุบันเรียกว่า เส้นทางสาย 3 จชต. อาจเป็นภาพที่ท่านถ่าย ขบวนรถไฟ 2 ข้างทาง ชุมชนข้างเคียง ทิวทัศน์ข้างทาง วิถีชีวิต อาหารพื้นถิ่น อาคารสถาปัตยกรรม จุดเชื่อมโยงการเดินทางกับเส้นทางรถไฟ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ภาพที่ส่งมาขอให้เชื่อมโยงกับเส้นทางคมนาคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม สามารถส่งผลงานมาร่วมประกวดได้ " ผศ.ดร.นภดล กล่าวในที่สุด
สำหรับการส่งผลงาน แบ่งเป็นประเภท เยาวชน และประชาชนทั่วไป ร่วมทั้งองค์กร หรือ กลุ่มนักสื่อสาร สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ -23 สิงหาคม 2564 ผ่านทางสแกนQR Code หรือ E-mail address : thanyaporn.a@psu.ac.th
ชิงเงินรางวัลรวม 84,000 บาท การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผลงานรูปถ่ายเล่าเรื่องที่ได้รับรางวัลจะรวมเล่มลงหนังสือท่องเที่ยวฉบับพิเศษ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Pattani Heritage City
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 6 สิงหาคม 2564 มีการแถลงข่าว รายละเอียดของโครงการ ที่มา วัตถุประสงค์ ทางเพจ Pattani Heritage City โดยมีนายสุชาติ ชายมัน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
รายงาน
ขอบคุณภาพ:
โครงการ Pattani Heritage City