ข่าวเด่นประจำวัน

ศอ.บต.จัดประชุมผลักดันฟื้นฟูการเดินรถไฟเส้นทางสุไหงโก-ลก จ.นราฯ สู่ประเทศมาเลเซีย "สุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง - ปาเสมัส - ตุมปัต" หวังเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 2 ปท.

User Rating: 1 / 5

Star ActiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

              เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมฟื้นฟูการเดินรถไฟเส้นทาง จากสุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง - ปาเสมัส - ตุมปัต โดยมี Mr.Mohd Afandi Bin Abu Bakar กงสุลใหญ่ มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมือง โกตาบารู รัฐกลันตัน หัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการหน่วยงานความมั่นคง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมจะบังติกอ โรงแรมซี.เอส.อ.เมือง จ.ปัตตานี

 

 

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามในการผลักดันโอกาสในการพัฒนาของทั้งสองประเทศ สามารถขยายผลไปยังความร่วมมืออีกหลายเรื่องเพื่อเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน การสร้างสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของทั้ง 2 ประเทศ จากการพบกันของผู้นำทั้งสองประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ ตุน ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม 2561 เห็นพ้องกันที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ร่วมสร้าง "ทศวรรษใหม่แห่งความสัมพันธ์" ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความท้าทายมากขึ้น มุ่งเน้นความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และความร่วมมือด้านความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงตามแนวชายแดน และความร่วมมือในกรอบอาเซียน ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างสรรค์การพัฒนาของไทยและมาเลเซียในฐานะ "ภาคีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ต่อการบริหารจัดการความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนนากรขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศให้มีสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง

 

 

 

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนุภูมิภาคหลังการประชุมร่วมกันของผู้นำแผนความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาการประชุมสุดยอดผู้นำแผน IMT-GT ครั้งที่ 11 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซีย ประเด็น การจัดลำดับความสำคัญโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพในแต่ละแนวระเบียงเศรษฐกิจตามมิติการเชื่อมโยงที่เหมาะสมและเพิ่มแนวระเบียงเศรษฐกิจใหม่เพื่อการขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามข้อเสนอโครงการที่เสนอต่อผู้นำ และคำนึงถึงผลกระทบจากการพัฒนาที่มีดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โอกาสการเชื่อมโยงกับการพัฒนาของพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย เชื่อมโยงการพัฒนาระดับภูมิภาคตามทางสายไหมใหม่ของจีน โดยเปิดแนวระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส-เประ-กลันตัน เป็นยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงใหม่ ที่เรียกว่า “Economic Corridor ที่ 6 และการหารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงเขตเสรีทางโทรคมนาคมรองรับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแดนเชื่อมโยงระดับสากล

 

     

         "การประชุมวันนี้ หารือกันเพื่อที่จะเริ่มต้นฟื้นการเดินรถไฟอีกครั้ง อาจยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เป็นการเริ่มต้นมิติใหม่ การเดินรถไฟของไทยจากหาดใหญ่ – สุไหงโก-ลก สู่มาเลเซีย เคยมีความร่วมมือกันมาก่อนเมื่อปี พ.ศ.2497 มีการทดสอบการเดินรถช่วงเดือน สิงหาคม และกันยายน ปี พ.ศ.2542 แต่ไม่ได้มีการขยายต่อด้วยติดขัดสาเหตุหลายประการ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หลังจากนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้พบกันร่วมมือกัน  ในขณะที่ประเทศมาเลเซียพูดถึงเส้นทางรถไฟสายตะวันออก พร้อมจะเชื่อมตั้งแต่กัวลาลัมเปอร์ขึ้นมาถึงประเทศไทย และเมื่อเร็วๆนี้มีการประกาศกรมการขนส่งทางราง สังกัดกระทรวงคมนาคม กรมใหม่ของประเทศไทย ทุกอย่างบรรจบกัน คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในไม่ช้า ความ ร่วมมือจากทุกฝ่าย และจากการนำเสนอในวันนี้ ศอ.บต.จะรวบรวมข้อมูลสรุปกราบเรียนนายกรัฐมนตรีไทยเพื่อประสานทางมาเลเซียต่อไป" พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าวและว่า

หากมีการเปิดเส้นทางดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดพื้นที่เส้นทางการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่กันระหว่างพี่น้องไทยและมาเลเซียในแถบภาคตะวันออก เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และเศรษฐกิจที่ดี รวมไปถึงการผลักดันพื้นที่ร่วมกันพัฒนาของทั้งสองประเทศ

 

 

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com