ข่าวเด่นประจำวัน

นักวิชาการด้านภัยพิบัติ แนะเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากลมมรสุมในพื้นที่ภาคใต้

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี/หัวหน้าโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย:กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า มรสุมปีนี้คาดว่าฝน น้ำยังมีอยู่ ระดับน้ำในเขื่อนยังคงเฝ้าติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้ค่า แม้ว่าช่วงนี้มีฝนตกลงมามาก อย่างไรก็ตาม น้ำฝนจากบนหลังคายังมีประโยชน์ ควรมีภาชนะที่สามารถกักเก็บสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง ที่ผ่านมาได้อบรมให้ความรู้แก่เครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ และภาคีเครือข่าย ด้านสาธารณภัย ประมาณ 100 คน ฝึกปฏิบัติการดูข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศพีบีวอทช์และโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาเชิงพื้นที่ของตนเอง เช่น พื้นที่ตามแนวชายฝั่ง พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ หรือเทือกเขาสูง ฝึกสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลักษณะสี ของน้ำ ความหนัก เบา ของฝน ระยะเวลา ความต่อเนื่องฝนตก รวมทั้งติดตามข้อมูลจากฐานข้อมูลสารสนเทศจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อประเมินปัจจัยความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“ติดตามข้อมูลเพื่อวางแผนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือ และQRCode ระบบสารสนเทศเฝ้าระวังภัยพิบัติกับระบบพีบีวอทช์ ความร่วมมือ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ Centre of Execllence in Mathematics (CEM) PB Watch.NET ร่วมกับศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) สมาชิกสามารถเข้าไปในกลุ่มไลน์ PBWatch.Net ซึ่งเป็นช่องทางในแลกเปลี่ยนข้อมูลสื่อสารและเฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงนี้”ดร.สมพร กล่าวและว่า

ปัจจุบันยอมรับว่าประชาชนเข้าถึงเครื่องมือ การใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น เรียนรู้ข้อมูลดินฟ้าอากาศ การวิเคราะห์ภาพจากเรดาร์ รู้ทิศทางลม การเคลื่อนที่ของฝน เข้าใจลักษณะภูมิประเทศ เห็นข้อมูล ลักษณะการไหลของน้ำ เพื่อที่ว่าเครือข่ายฯที่มาอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในพื้นที่ของตน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ประเมินได้ว่าน้ำจะมาถึงอีกกี่ชั่วโมง ในพื้นที่ของตน ประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จะต้องเตรียมอพยพกันอย่างไร ไปอยู่ที่ไหนจะปลอดภัย การเตรียมข้าวปลาอาหาร พลังงาน แสงสว่าง เป็นสิ่งจำเป็น เป็นตัวอย่างในการสร้าง Green Citizen เครือข่ายภาคประชาชนสีเขียว

เรียนรู้เรื่องภัยพิบัติจากประสบการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน กรณีแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิ ที่อินโดนีเซีย เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น แผ่นดินไหวบนบก ส่งผลแรงสั่นสะเทือนไปถึงน้ำ ช่องพื้นแคบ บริเวณตำแหน่งที่แตกพอดี แม้ว่าจะลึกลงไป 10-20 กิโลเมตร แต่เมื่อเกิดบริเวณดังกล่าวน้ำจะสั่นกระเพื่อมเกิดคลื่นสินามิ เป็นลักษณะแหลมลงมา น้ำถูกเหวี่ยงขึ้นมา ไหลเข้าไปในอ่าง ทำให้เกิดคลื่นสูงและทำลาย แรงสั่นสะเทือนมาจากแผ่นดินไหว น้ำยังสาดใส่เข้ามา และมีภูเขาไฟ เป็นตัวอย่างภัยพิบัติที่มีหลายเหตุการณ์ จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย และต้องมีการวางแผนล่วงหน้า แต่ภัยบางอย่างไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้

“เราโชคดีมากที่ประเทศของเราตั้งอยู่บริเวณตำแหน่งภูมิภาคแห่งนี้ที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงมากนัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และความเสี่ยงจากการที่เราขาดประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ขาดการเตรียมความพร้อม และความตระหนักถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การบริหารจัดการรับมือยังไม่มีความตระหนักมากเพียงพอ จำอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้อง มีระบบการจัดการที่ดี มีการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และแผนการรับมือที่มีประสิทธิภาพ มีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ งบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือที่เพียงพอ และมีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์” ดร.สมพร กล่าว

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com