วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปยังชุมชนเป้าหมายทริปที่ 3 ร่วมกับนักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน โดยมีสถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นแม่งานหลักในการประสานชุมชนเป้าหมายโครงการทริปทดลองเพื่อออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้นำแถวสองในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมี บ.โลเคิล อไลค์ ร่วมจัดทริปทดลองเพื่อทดสอบการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว 10 เส้นทางปลายด้ามขวานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมายของเราทริปนี้ คือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา สำหรับใครที่เคยแวะเวียนไปเที่ยวชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงมาแล้ว เส้นทางไม่ไกลจากหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 มากนัก ลองเปลี่ยนเส้นทางมาสัมผัสกับธรรมชาติ ผืนป่าฮาลาบาลา ฟังเสียงน้ำไหล โอบกอดต้นไม้ใหญ่สมพงยักษ์ หรือกะพงยักษ์ ให้หัวใจได้ชื่นบานกันดูบ้าง รับรองว่าได้รับพลังอันบริสุทธิ์จากธรรมชาติไปอย่างเต็มที่
เส้นทางของเรามุ่งสู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 Back to Nature เป็นป้ายข้อความต้อนรับผู้มาเยือนสองข้างทางเข้าหมู่บ้านรกครึ้มไปด้วยแมกไม้ และป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ หากใครที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ ชอบกิจกรรมเดินป่า และอาบป่า แนวท่องเที่ยวที่สัมผัสธรรมชาติให้ดื่มด่ำถึงใจ ทริปนี้ ไม่ควรพลาด ที่นี่เราได้รับฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา หลังจากร่วมลงนามสันติภาพสามฝ่าย (พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา -ประเทศไทย-ประเทศมาเลเซีย) เพลิดเพลินใจไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตื่นตาตื่นใจไปกับการจัดแสดงอาวุธที่ใช้ในการสู้รบ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษา ยามเจ็บป่วยจากการสู้รบ เครื่องดนตรีบรรเลงผ่อนคลาย เครื่องมือสื่อสารต่างๆ การ์ด สคส เกียรติบัตรยกย่องสมาชิกพรรค การได้มาเดินป่าราวกับได้หวนคืนสู่บรรยากาศในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง
สาริน แสงเกียรติวงศ์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านจุฒาภรณ์พัฒนา 10 (ขวาสุด)
พงศ์พัฒน์ พิริยะไทย (เสี่ยวเซิน) ไกด์นำชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 (คนกลาง)
ไกด์ของเรา ชื่อ สาริน แสงเกียรติวงศ์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 คนหนุ่มอนาคตไกล ที่มีภูมิหลังครอบครัวพ่อแม่และญาติพี่น้องที่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ร่วมอุดมการณ์การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกกดขี่ข่มเหง ผลักดันให้คนในครอบครัวเข้าร่วมอุดมการณ์การต่อสู้ ผู้เขียนยังได้เรียนรู้มากมายกับมุมคิดและวิธีการถ่ายทอดแบบกันเอง เหมือนคนในครอบครัวคุยกัน ซึมซับกับความคิด และวิถีการจัดการของหมู่บ้าน ที่วันนี้รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเต็มตัว และยังสามารถรวบรวมคุณค่าของหมู่บ้านทั้งทรัพยากรบุคคล เรื่องราว อาชีพ การดำรงอยู่ในป่า ถ่ายทอดเป็นกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าชาวโอรังอัสรี (ซาไก) ชนเผ่าที่อยู่ในป่าฮาลาบาลาและยังรักษาวิถีดั้งเดิมเพื่อการดำรงชีวิต เรียนรู้การทำลูกดอก และเป่าลูกดอก การฝึกเขียนอักษรด้วยพู่กันจีน โดยเหล่าซือ ผู้มีความความรู้ และกระตือรือร้นในการสอนและเขียนข้อความรักเป็นอักษรจีนให้ทุกคนนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกเนื่องในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ความรักจากที่เดินทางไปกับเราด้วย
ชีวิตย่อมมีหนทางไป เมื่อชีวิตไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา และสายน้ำที่จะพัดพาไป เราสามารเลือกกำหนดอนาคต และเส้นทางชีวิตใหม่ของตนเองได้ เพื่อการบรรลุสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ครั้งเมื่อการต่อสู้สิ้นสุด ภายหลังจากการเจรจาและเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เลือกที่จะลงหลักปักฐานยังผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ การต่อสู้ปฐมบทใหม่เริ่มขึ้น ทั้งการจัดการตัวเอง ชุมชน หมู่บ้าน และแนวคิดที่อาจแตกแยกกันออกไป กว่าที่บทสรุปของชุมชนจะเห็นด้วยกับการทำชุมชนท่องเที่ยวจนเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน ผ่านการตกผลึกทางความคิดพอสมควร รายได้ที่เกิดขึ้นจะเป็นของใคร และจะจัดการอย่างไร ในวันนี้ที่นี่ได้ผ่านบทพิสูจน์เหล่านั้นมาแล้ว และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์
เรียนรู้วิถีชนเผ่าชาวโอรังอัสรี (ซาไก) การทำลูกดอก และเป่าลูกดอกล่าสัตว์
ผู้เขียนยังได้เรียนรู้มุมคิดจากไกด์ของเราอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าการจัดการที่พยายามดูแลรับรองที่อยู่ ที่กิน อาหาร บริการทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว แม้กระทั้งของฝากจากร้านค้าชุมชน ซึ่งมีทุกอย่างที่ต้องการ แม้แต่โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล การให้ข้อมูลเพื่อการบอกเล่าถึงเรื่องราวของหมู่บ้านชุมขนตนเอง และยังได้ฟังประสบการณ์ชีวิตการต่อสู้ของคุณลุงพงศ์พัฒน์ พิริยะไทย หรือ "เสี่ยวเซิน" อดีตคอมมิวนิสต์มาลายา ไกด์นำชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ของเราอีกคนหนึ่งที่สามารถจดจำปี ค.ศ.เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยรุ่นหนุ่มเข้าร่วมพรรคฯ การต่อสู้ของท่านผู้นำ ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการต่อสู้หลายยุค หลายสมัย ร่วม 40 กว่าปี จนมาถึงพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลมาเลเซีย และสลายกองกำลังมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามข้อตกลง และลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งหมู่บ้าน"รัตนกิตติ" ขึ้น 4 หมู่บ้านเพื่อให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยใช้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ต่อมาเข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และทรงพระราชทาน ชื่อหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 "เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2536
ชีวิตย่อมมีหนทางไป และชีวิตต้องเดินต่อไปข้างหน้า สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังคือร่องรอยทางความคิด และประวัติศาสตร์ที่สอนเราคนปัจจุบันให้ระลึกได้เสมอว่า "สงครามย่อมมีวันสิ้นสุด และชีวิตต้องเดินต่อไปข้างหน้า" วันนี้เราจะสร้างความหมายใหม่เพื่อการมีชีวิตอยู่ที่มีคุณค่าอย่างไร
เรียนรู้การเขียนอักษรด้วยพู่กันจีน โดย เหล่าซือ
การทำหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ราวกับการต่อสู้ยังมีชีวิต และผู้มาเยือนยังได้สัมผัสถึงเรื่องราวเหล่านั้นผ่านประสบการณ์การเดินป่า และ อาบป่า หากเป้าหมายชีวิตเพื่อการดำรงอยู่อย่างสงบ
และสันติแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์ด้วยใจ และสัมผัสได้ด้วยตา จากมุมชีวิตและเรื่องราวการต่อสู้ สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะโฟกัสเพิ่มเติม คือ ประสบการณ์ของการเดินป่า และการอาบป่า ที่แอบหมายมั่นตั้งใจไว่ว่า คงเป็นประสบการณ์ที่ดี ในชีวิตสักครั้ง
เดินป่า และ อาบป่า ต่างกันอย่างไร
ทริปนี้ ผู้เขียนได้ประสบการณ์ทั้ง 2 อย่าง อย่างแรก การเดินป่า นอกจากต้องเตรียมชุด รองเท้า และอุปกรณ์ให้เหมาะกับการเดินป่าแล้ว เรายังได้เรียนรู้ต้นไม้ พืชพรรณธรรมชาติ สองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นไม้ใหญ่ หรือ ต้นเฟิร์นสองข้างทางที่จะเปลี่ยนสีไปตามแสงดวงอาทิตย์ ส่วนการ "อาบป่า" เป็นกิจกรรมที่ทำให้เรามีเวลาสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น ไม่เร่งรีบเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แต่ใช้เวลากับระหว่างทางที่เดินไป เช่น หลับตา ฝึกการฟังเสียงจากธรรมชาติ มีเวลาหยุดนิ่ง ยืน หรือ นั่ง ใต้ต้นไม้ ฟังเสียงน้ำไหล สัมผัสกลิ่นป่า ปล่อยวางความคิด หรือ การใช้โทรศัพท์มือถือ การถ่ายภาพ พักวางหัวใจให้สัมผัสดื่มด่ำไปกับธรรมชาติที่เราอยู่ด้วย ณ ขณะปัจจุบัน นิ่งสงบใต้ต้นไม้ โอบกอดต้นไม้ สื่อสารจากภายใน หัวใจได้รับความสุขสดชื่น เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ให้ประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ราวกับประสาทสัมผัสตื่นตัวและสดชื่นไปกับป่า และธรรมชาติที่กำลังโอบกอดเราไว้ด้วยความรัก
ผู้เขียนเชิญชวนสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติ ต้องการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ที่สามารถค้นหาความหมายของชีวิตและคุณค่าด้วยตนเอง หากเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับสถานที่ที่ผู้คนไปกันเยอะ หรือหมดเวลาไปกับรถติด ควันพิษ กว่าจะไปถึง แนะให้ลองมาท่องเที่ยวชุมชนที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ให้ชีวิตได้ค้นหาความหมาย และประสบการณ์ชีวิต ใหม่ แบบ Slow Life ชีวิตไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา
เชิญมาสัมผัสและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ณ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา สนใจที่พัก สอบถามการเดินทาง ติดต่อได้ที่ 084-718-5392 หรือติดตามทางเพจเฟซบุ๊ก หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10
ภาพ/เรื่อง
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani