พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคภูมืใจไทย
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ได้มีโอกาสประชุมผ่านระบบ Zoom กับทีมงานสำนักงานสาธารณสุข จ.ปัตตานี ร่วมกับ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประเมินว่า ปัตตานีมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ประชากรในจังหวัดปัตตานี ทั้งหมด จำนวน 600,000 กว่าคน ถ้าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะต้องฉีดให้ได้ประมาณ 40,000 กว่าคน แต่ปรากฎว่าตอนนี้ ผู้ที่แจ้งความประสงค์ต้องการฉัดวัคซีนยังไม่ถึงเป้า ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ อสม.เจ้าหน้าที่ด่านหน้า กลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มโรคประจำตัว คิดว่าต้องมานั่งคุยวางแผนกันว่า จะประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนอย่างไร
"ข่าวปลอม fake news ต่างๆที่ออกมาผ่านทางไลน์ ช่องทางต่างๆ ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าสื่อของรัฐ ต้องยอมรับว่าประชาชนมีความกังวล และกลัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเรา ตัวอย่างเดือนที่แล้ว อสม.ลงพื้นที่เดินเคาะประตูบ้านถามชาวบ้านว่าต้องการจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ชาวบ้านตอบ ไม่ เราทำงานเชิงรุกดีมาก แต่คนของเรายังขาดความรู้เพียงพอ ไม่สามารถอธิบายชาวบ้านให้เข้าใจได้ ไม่ทราบที่มาของวัคซีน เป็นวัคซีนอะไร ฉีดแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจ" แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวและว่า
ได้คุยกันในที่ประชุม Zoom การให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานหน้างาน เป็นเรื่องสำคัญมาก แกนนำต่างๆพร้อมใจกันฉีดวัคซีน เป็นการสร้างความมั่นใจอย่างหนึ่งที่ดี ตัวหมอเองก็ฉีดวัคซีน ซิโนแวค ครบ 2 เข้ม โดยเฉพาะเข้มที่ 2 ฉีดที่โรงพยาบาลปัตตานี นั่งพัก 30 นาที ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆกับตัวเอง คาดหวังว่าประชาชนยังต้องการความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนอีกมาก
กลุ่มด่านหน้า เช่น สื่อ ผู้ค้าในตลาด กลุ่มคนเก็บขยะ คนกวาดถนน ต้องมานั่งคุยกันว่า จะฉีดวัคซีนให้แก่พวกเขาได้เมื่อไหร่ เจอคำถามกลับมาว่า แม้แต่แกนนำ ก็ยังไม่มีความมั่นใจในการฉีด เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อย่างที่เป็นข่าวที่ จ.ระยอง หลังจากฉีดมีอาการชา เส้นเลือดในสมองตีบ เคสดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจาก ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เป็นรอยโรค เป็นอาการปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ มีความเครียด กลัวว่าพรุ่งนี้จะฉีดแล้ว ต้องบอกว่า "ใจสั่งได้" จึงมีผลต่อร่างกาย สุขภาพจิตจึงสำคัญ ต้องผ่อนคลาย และเตรียมตัวเองก่อนฉีดวีคซีน พักผ่อนเพียงพอ ทานอาหาร ออกกำลังกาย เตรียมใจไปฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ในจ.ปัตตานีให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามว่า "วัคซีนฮาลาลหรือไม่" ประเด็นนี้ได้นำเรียนปรึกษาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ท่านบาบอแม เรียนท่านว่า เรื่องวัคซีนโควิด-19 ท่านจะให้ความมั่นใจอย่างไร ท่านตอบว่า ท่านได้ฟัตวาไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านใช้ฟัตวาเดิม แม้ไม่มีตราฮาลาล แต่มุสลิมทั่วโลกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิต ป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรง หลักศาสนาบอกว่า การป้องกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เป็นเรื่องที่เราต้องเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน
" คุยกันในเชิงรุก จะทำอย่างไรให้พื้นที่ไข่แดงของปัตตานี เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องโยบาย Walk In ใครอยากฉีด เดินเข้ามาฉีดได้เลย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศนั้น เราต้องมาออกแบบของเราเองให้สอดคล้องกับพื้นที่ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานที่รองรับ หลังฉีดรอสังเกตอาการ 30 นาที มีรถพยาบาลเตรียมพร้อมตลอดเวลา การฉีดนอกสถานที่ สามารถทำได้ แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ทำงานหนักมาก ขอให้กำลังใจทุกท่าน" แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวในที่สุด
ขอบคุณภาพประกอบ: ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani