นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. เปิดการอบรมค่ายวิทยาศาสตร์อากาศยาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรมพัฒนา software "เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร" แก่ครูในโรงเรียนจชต. โดยมี ดร.ภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 1 เจ้าภาพจัดการอบรม กล่าวรายงาน ผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษในจชต. ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 200 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
ดร.ภิรมย์ จีนธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 1 กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางแก่ครูในโรงเรียนสามารถนำไปต่อยอดด้านการเรียนการสอน เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ หรือ ที่เรียกว่า STEAM Learning เพื่อเผยองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอากาศยานให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยีจากระดับพื้นฐาน ต่อยอดสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนขึ้น ที่สำคัญเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนสามารถเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมฝูงโดรนขนาดเล็กได้
"ขอบคุณสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจชต.โดยท่านสราวุธ มอบหมายและไว้วางใจ สพป.ปัตตานี เขต 1เป็นเจ้าภาพจัดอบรมครั้งนี้ 29-31 มี.ค.2564 จากการอบรมที่ผ่านมา ถือว่าเด็กสนใจมาก คาดหวังเด็กได้เรียนรู้เรื่องโดรน เป็นเรื่องที่ดี การโค้ดดิ้ง ด้านวิทยาการคำนวณ (computing science) ถือเป็นความโชคดีของเด็กในจชต.ได้รับโอกาสพัฒนาเรื่องนี้" ผอ.สพป.ปัตตานี เขต 1 กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ด้านนายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ นำอากาศยานไร้คนขับมาให้แก่ครูและบุคลากรในพื้นที่จชต.เพื่อต่อยอดแก่พี่น้องในพื้นที่ จชต.ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะนำเทคโนโลยีสู่ประชาชนและชายแดนใต้ ขอบคุณที่ท่านผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ มาร่วม และช่วยกันผลักดัน ยึดแนวทางการศึกษาขั้นพื้นฐานนโยบายเรื่องเทคโนโลยีมาใช้กับนักเรียนและครูในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพ หลังจากนี้ครูที่อบรม จะไปเผยแพร่ต่อแก่นักเรียนในโรงเรียน ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการจัดแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานในพื้นที่ จชต. เราไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กแข่งขัน แต่ต้องการเผยแพร่เทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันเร็วมากเราต้องตามให้ทัน"ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. กล่าวกับผู้สื่อข่าว
การใช้เทคโนโลยีโดรน อากาศยานไร้คนขับเป็นการเขียนโค้ดดิ้ง(coding) ต่อยอดไปสู่อีกอาชีพในอนาคตไม่ใช่แค่ขับเครื่องบินอย่างเดียว แต่ต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นได้อีก เช่น วิศวกรการบิน หรือ สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนในพื้นที่ด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนงต่อไปได้ ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. กล่าวในที่สุด
นายศรัทธา เจะแล ครูโรงเรียนบ.ปากบาง อ.ละงู จ.สตูล
นายศรัทธา เจะแล ครูโรงเรียน บ.ปากบาง อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ทางโรงเรียนและผู้บริหารคาดว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมในวันนี้ จะสามารถนำไปขยายผลต่อแก่นักเรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน
"ผมสอนชั้น ป.4-ป.6 และม.1-ม.3
วิชาการงาน วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ นำไปถ่ายทอดต่อแก่นักเรียน" นายศรัทธา กล่าว
นางสาวปลื้มกมล พรประเสริฐ ครูลูกจ้างรายเดือนสถานศึกษาขาดแคลนขั้นวิกฤต โรงเรียนสุคิรินวิทยา อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
เช่นเดียวกับ นางสาวปลื้มกมล พรประเสริฐ ครูลูกจ้างรายเดือนสถานศึกษาขาดแคลน ขั้นวิกฤต โรงเรียนสุคิรินวิทยา อ.สุคิริน จ.นราธิวาส กล่าวว่า คาดหวังนำความรู้ไปขยายผลต่อเพิ่มเติม โรงเรียนอยู่สุดชายแดน อยากให้นักเรียนได้เรียนรู้เชื่อว่าสามารถขยายผลทั้งด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวได้
"สอนด้านวิทยาศาสตร์คำนวณ ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย ทั้งโรงเรียนมีเด็ก ประมาณ 400 กว่าคน เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สิ่งที่อยากได้ตอนนี้เรื่องโปรแกรม และ อุปกรณ์ โดรน คิดว่าการขยายผลจะได้ทั้งการเรียนการสอน และการท่องเที่ยว จะได้ช่วยโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น สกายวอล์คสุคิริน" นางสาวปลื้มกมล กล่าว
นายมูฮำหมัดซอและ กะเด็ง ครูชำนาญการ โรงเรียนบ.น้ำดำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ส่วนนายมูฮำหมัดซอและ กะเด็ง
ครูชำนาญการ โรงเรียน.บ.น้ำดำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า คิดว่าสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนได้ สอนเด็กได้ ส่วนแผนการดำเนินการต่อสามารถขยายผลถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนต่อไป
"ผมสอนด้านวิทยาศาสตร์ชั้น ม.1-ม.3 คาดหวังได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปปรับใช้กับโรงเรียน และเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนส่งบุคลากรเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้" นายมูฮำหมัดซอและ กล่าว
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani