แพทย์หญิงราตรี เจะเอาะ สูติแพทย์นรีเวช โรงพยาบาลปัตตานี กล่าวในรายการร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ ทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์โรคและดูแลรักษาได้ตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะนี้ ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดต่อทั้งมารดาและทารกได้
แพทย์หญิงราตรี เจะเอาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจพบในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งครรภ์แฝด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว มีการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง และข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
สำหรับสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ โดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ โดยอาการที่แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ การมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ชัก การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก ได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกเสียชีวิตในครรภ์ ดังนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่เข้าข่ายจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลและติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด