นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ นายแพทย์โรงพยาบาลไม้แก่น กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า การดูแลสุขภาพทั่วไปในช่วงเดือนรอมฎอน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการอดอาหาร อดน้ำทั่วๆไป แต่ที่จริงแล้วเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของการส่งเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง โดยในความหมายของสุขภาพในเดือนรอมฎอน หมายถึงสุขภาพกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งทั้ง 4 ด้านนี้จะเห็นได้ในเดือนรอมฎอนในการถือศีลอดนั่นเอง โดยการถือศีลอดพี่น้องมุสลิมจะมีการเปลี่ยนแปลงของการรับประทานอาหาร จะลดการรับประทานอาหารในมื้อเที่ยงเต็มวัน ทำให้ร่างกายมีการปรับสมดุลย์ในหลายระบบของร่างกาย ได้แก่ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และระบบหัวใจ เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้ถือศีลอดปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะส่งผลดีต่อร่างกายโดยเป็นการชะลอ หรือลดปริมาณการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตทำให้เกิดความสงบมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดียิ่ง
นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามการถือศีลอดในแต่ละวันพี่น้องมุสลิมเกิดความกระหายน้ำ และความหิว ทำให้เมื่อถึงเวลาละศีลอดมีการรับประทานอาหารกันปริมาณมาก โดยเฉพาะอาหารจำพวกขนมหวาน ซึ่งเมื่อรับประทานอาหารในจำนวนปริมาณมากๆอาจจะทำให้เกิดโรคเข้ามาได้ง่าย โดยเฉพาะโรคเบาหวาน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินมากที่สุด ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีในการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน
ทั้งนี้วิธีการดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอดสำหรับประชาชนทั่วไป ได้แก่
1.รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
2. สำหรับอาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
3. อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังต่อไปได้
4. หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และ
5. ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน