N News

รายงานพิเศษ: "คนกินแดดชายแดนใต้" ทางเลือก ทางรอดในยุคค่าไฟแพง?

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

รายงานพิเศษ: "คนกินแดดชายแดนใต้" ทางเลือก ทางรอดในยุคค่าไฟแพง? 

       เศรษฐกิจปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากน้ำมันแพง ที่ดูเหมือนอะไรก็แพงตามไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟ ค่าครองชีพ สินค้าจำเป็นหลายอย่าง ปรับขึ้นสูงขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมัน ระบบการขนส่ง และกลไกตลาดสินค้า ยังไม่นับรวมวิกฤตพลังงาน และสงครามในยูเครน กับรัสเซีย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความผันผวน และความไม่แน่นอนในสถานการณ์โลกมากขึ้น วันนี้คนไทยจะปรับตัวอยู่อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์

ผอ.สำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี

อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีม.อ.ปัตตานี

       ทางเลือก ทางรอด ของคนไทย ควรจะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวในรายการร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เรื่องพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด โซลาเซลล์ ผู้สร้างแรงดาลใจ และแรงบันดาลไฟ ให้เกิดขึ้นกับครือข่ายชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้ รู้จักกันดีว่า "โครงการคนกินแดดชายแดนใต้" วันนี้อาจารย์มีมุมมอง แนวคิด และประสบการณ์มาถ่ายทอดกัน

       โครงการคนกินแดดชายแดนใต้ เกิดขึ้นมาเพื่อการเตรียมความพร้อมแก่ภาคประชาชนในเรื่องพลังงาน หลังจากที่เตรียมความพร้อมกับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ มีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งระดับครัวเรือน หน่วยงาน องค์กร ไปจนถึงระดับชุมชน ยกระดับองค์ความรู้เพื่อการจัดการตนเองรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ชุมชนสามารถเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเองได้ จากสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงาน และเศรษฐกิจในยุคข้าวยากน้ำมันแพง พลังงานสะอาด จากโซลาร์เซลล์ จึงกลายเป็นความหวัง ทางเลือก และทางรอด สำหรับการเตรียมการเพื่ออนาคตของประเทศ การพึ่งพาตนเองทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และท้องถิ่นได้อนาคต

       "การจัดการระบบคิด เป็นเรื่องสำคัญมาก เราเน้นถ่ายทอดแก่ผู้เข้ารับการอบรม เมื่อเขาเข้าใจเขาสามารถไปต่อได้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ และการจัดการในส่วนอื่นจะตามมา คาดหวังผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ทั้งกับตนเอง ครัวเรือน และชุมชนได้" ผศ.ดร.สมพร กล่าว และว่า

       เราอบรมแล้วมากกว่า 1,000 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 20 รุ่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยเนื้อหาเน้นทั้งเชิงแนวคิด ทฤษฎี และการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจ มีประสบการณ์ สามารถนำไปใช้งานได้แบบผสมผสาน ทั้งการใช้ไฟปกติจากระบบสายส่ง และการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในครัวเรือน หรือพื้นที่การเกษตร

      เปรียบทียบราคาต้นทุนจากอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันต้นทุนต่ำลงมาก แผงโซลาร์เซลล์ประชาชนสามารถเลือกซื้อเพื่อการลงทุนใช้งานได้หลากหลาย อย่างเหมาะสม มีหลายขนาด สามารถติดตั้งแผงโซลาห์เซลล์เก็บสะสมพลังงานไว้ใช้ในกิจกรรมที่จำเป็น หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร ทำกับข้าว ออกกำลังกาย ใช้สำหรับอุปกรณ์เครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ และยังสามารถออกแบบเพื่อทำเป็นอาชีพโดยตรงได้อีกด้วย การอบรมใช้เวลา 2 วัน เนื้อหาเรียนรู้ภาคทฤษฎี และปฏิบัติ

       "ที่ผ่านมาได้รับความสนใจและตอบรับดีมากจากชุมชน นำโจทย์ความต้องการจากชุมชนเป็นตัวตั้ง เราช่วยแนะนำและถ่ายทอดความรู้ ส่วนคนที่สนใจจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ตอนนี้เกิดอาชีพใหม่มีคนเข้ามาช่วยติดตั้งระบบให้ และร่วมกันดูแลในเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ อนาคตอันใกล้จะนำตัวอย่างของพื้นที่ชุมชนที่ได้เริ่มต้นทำแล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เรียกว่า show case ของแต่ละพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนทำได้จริง และเกิดประโยชน์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผศ.ดร.สมพร กล่าวและว่า

 

       ระดับเชิงนโยบายมองว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรมีการจัดการและการลงทุนเพื่อประโยชน์และความคุ้มค่าในอนาคต ประเทศไทยเราแดดดี แดดแรง ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า"ที่ไหนแดดถึง ที่นั่นคุณภาพชีวิตประชาชนจะดี การศึกษาของลูกหลานเราจะดี

       "เพราะการมีพลังงานและการจัดการที่ดี จะสามารถขับเคลื่อนชีวิตคนไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นในทุกมิติ เราสามารถนำพลังงานมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนชีวิตไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นได้ ที่สำคัญประชาชนสามารถเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเอง พึ่งพาตนเองได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดในอนาคต" ผศ.ดร.สมพร กล่าวในที่สุด

 

 

ภาพ/ข่าว

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

รายงาน

5 ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด

แบบสำรวจความคิดเห็น

ตัวอย่างแบบสำรวจ?

สมัครรับข้อมูล

ไม่พลาดทุกข่าวสาร ลงทะเบียนสมัครรับข้อมูลจากเราได้แล้ววันนี้!

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com