ทีมสื่อสารชายแดนใต้ บพท.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ "การผลิตการสื่อสารงานวิจัยเชิงพื้นที่ชายแดนใต้" หวังพัฒนาทักษะสื่อสารแก่ผู้ช่วยนักวิจัย ร่วมสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่
วันที่ 11 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวติดตามบรรยากาศการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการผลิตการสื่อสารงานวิจัยเชิงพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ช่วยนักวิจัย เครือข่ายนักวิจัยชุมชนโครงการวิจัยในพื้นที่ภาคใต้สามารถสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่ชุมชนวิจัยได้ กำหนดจัดอบรมครั้งที่ 2 โดยมี ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เข้าร่วมอบรม รวม 30 คน
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน
หัวหน้าทีมสื่อสารบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน หัวหน้าทีมสื่อสาร บริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชายแดนใต้ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นงานสื่อสารงานวิจัยในพื้นที่เพื่อเพิ่มพื้นที่การสื่อสารระหว่างทางโดยผู้ช่วยนักวิจัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่ชุมชน
"เสริมกระบวนการทักษะการสื่อสารแก่ชุมชนเพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่ชุมชนทำเกิดประโยชน์อย่างไร เรา เอาการสื่อสารเข้าไปขับเคลื่อนเพื่อช่วยให้ผู้ช่วยนักวิจัยที่ทำงานอยู่แล้วในพื้นที่ สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ตรงกลางสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่ภายในของตนได้ ขับเคลื่อนตรงนี้เพื่อให้ต้นทางและปลายทางจากการวิจัยเชื่อมประสานกัน" นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวและว่า
ในสถานการณ์แบบนี้ คนอยากจะรู้ว่าระหว่างทางการแก้ปัญหาความยากจนทำอย่างไร เชื่อว่าชาวบ้านสื่อสารเรื่องราวของตนเอง สิ่งที่ตนเองทำจะมีพลังมาก และสามารถช่วยขยายผลเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ผู้ช่วยนักวิจัยดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่มาเสริมทักษะการสื่อสารเพิ่มเติม รุ่นแรก จัดอบรมไปได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
"คิดว่าสำคัญมาก เวลาเราพูดเรื่องการสื่อสาร เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมทั้ง 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันเติมเต็ม ชุมชนทำเอง ผลิตเอง ผู้ช่วยนักวิจัยสื่อสารเอง จะช่วยให้เห็นภาพกระบวนการสื่อสารชัดเจนมากขึ้น" นายมูฮัมหมัด กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กระบวนการอบรมประกอบด้วย หัวข้อ เทคนิคการใช้เครื่องมือเพื่อการสื่อสารงานวิจัย บพท. workshop เทคนิคการถ่ายภาพและวิดีโออย่างง่ายเพื่อการสื่อสาร หัวข้อ Pre-Production /Production รู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์ เตรียมข้อมูลวางแผน คิดประเด็นเพื่อการสื่อสาร เทคนิคการเล่าเรื่องและการตัดต่อ โดยมี นายเพาซี ยะซิง ประธานกลุ่ม MOJO ชายแดนใต้ และทีมงาน เป็นวิทยากร
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani