السبت، 28 أيلول/سبتمبر 2024

N News

เยือนถิ่นอีสานชายแเดนใต้:เสน่ห์ทางวัฒนธรรมม่วนคักหลาย สัมผัสธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้นานาพันธุ์

تعطيل النجومتعطيل النجومتعطيل النجومتعطيل النجومتعطيل النجوم
 

   วันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางพร้อมคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจากนราธิวาส เยี่ยมชมทริปทดลองท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยว ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งสนับสนุนการเดินทางโดยสถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีผ่านโครงการ 10 เส้นทางปลายด้ามขวานสามจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานวิสาหกิจเริ่มต้น บ.โลเคิล อไลค์ ปี 2564-2565 สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีนางจรัญยา แดงน้อย ผอ.สถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นคณะทำงานโครงการฯได้ประสานพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในการจัดทำทริปทดลอง โดยฝึกออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว และเทรนผู้นำแถวสองร่วมเป็นไกด์แนะนำชุมชน ผ่านทางระบบ Zoom และลงพื้นที่ชุมชนเยี่ยมชมกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ทริป 2 วัน 1 คืน

นายจิรศักดิ์ โมรานอก  กรรมการชุมชนท่องเที่ยว ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

  นายจิรศักดิ์ โมรานอก กรรมการชุมชนท่องเที่ยว ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เล่าจุดเริ่มต้นที่มาของการตั้งรกร้างถิ่นฐาน ย้อนไปก่อน ปี พ.ศ.2475 รัฐบาลมีนโยบายจัดสรรที่ดินทำกินแก่คนที่มีฐานะยากจนไม่มีที่ทำกิน ใครที่ต้องสมัครให้มาสมัครได้ ที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ คนที่ไม่มีที่ดินทำกินไปสมัครและผ่านการคัดเลือก เมื่อถึงเวลาเหมาขึ้นรถไฟมาจนถึงนิคมสร้างตนเองสุคิริน มีรถจากทางนิคมไปรับมาอยู่ที่นี่ แรกเริ่มอยู่ศูนย์พักคอย สร้างขึ้นมาบริเวณ อบต.ภูเขาทองในปัจจุบัน มีคนจากหลายจังหวัดทางอีสานมาอยู่รวมกันเพื่อไม่ให้คนจากจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเกินไป ให้เกิดความหลากหลาย ก่อนจัดสรรที่ดินทำกินให้ทุกคนทำงานร่วมกันแผ้วทางป่า ทำเป็นล็อคๆ เมื่อเสร็จ จับสลากจัดสรรที่ดินทำดินให้ ตอนที่ขุดหลุมวางเสาเข็มชั่วคราว เจอทองคำ เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน และชื่อตำบล "ภูเขาทอง"

กรรมการชุมชนท่องเที่ยวต.ภูเขาทองเล่าต่อว่า ที่มาของพระธาตุภูเขาทอง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยพุทธ ช่วงปี 2537-2538 ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง มีการทอดผ้าป่า ช่วยกันใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์

ส่วนที่มาของชุมชนท่องเที่ยวฯ เกิดจากแนวคิดของนายกอบต.ภูเขาทอง ท่านเก่า มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากมองเห็นว่าการพัฒนาพื้นที่ได้งบอุดหนุนจากรัฐบาลไม่มากนัก กระบวนการท่องเที่ยว จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดย อบต.เริ่มต้นทำก่อนในช่วงแรก จากนั้นคนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ต่อมาได้ฝึกชาวบ้านรวมเป็นกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนในปัจจุบัน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กรรมการท่องเที่ยวชุมชนฯ มีมติให้ปิดการท่องเที่ยวไว้ก่อน หลังจากสถานการณ์ผ่อนคลายดีขึ้นจะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวให้เยี่ยมชมได้เหมือนเดิม

"เชิญชวนสำหรับใครยังไม่เคยมาท่องเที่ยวที่สุคิริน เชิญมาสัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีชุมชน สัมผัสวัฒนธรรมอีสานชายแดนใต้" นายจิรศักดิ์ กล่าวในที่สุด 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดทริปทดลองการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในครั้งนี้ ได้ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์

จุดแรก นำชมหมอกยามเช้าตรู่ รับพลังแสงจากพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นระหว่างพระธาตุเจดีย์ และขุนเขา ทะเลหมอก สวยงามอย่างลงตัว จากนั้น เยี่ยมชมสักการะพระธาตุภูเขาทอง ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวไทยพุทธที่อยู่ที่นี่ บริเวณนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปยังจุดชมวิวที่สวยอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส สามารถเห็นทะเลหมอกสองแผ่นดินจากฝั่งประเทศไทยและมาเลเซีย จากนั้น ชาวพุทธใส่บาตรพระบริเวณเขตพุทธอุทยานพระธาตุเจดีย์ภูเขาทอง หมู่ที่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส Hightlight ที่สวยอีก Scene จะเห็นมิติความงามของฉากหลังเป็นภูเขา สายหมอก ต้นไม้ และพระที่กำลังเดินขึ้นเนินมาเพื่อรับบิณฑบาตร โดยมีญาติโยมผู้ศรัทธาเฝ้ารอ เป็นภาพของความประทับใจในวิถีแห่งศรัทธา

คณะฯ เดินทางสัมผัสธรรมชาติ ชมต้นกะพงยักษ์ ขนาด 27 คนโอบ  ต้นน้ำสายบุรีแห่งป่าฮาลา-บาลา

หลังจากคณะเดินทางฯ อิ่มอร่อยกับอาหารมื้อเช้า เมนู ข้าวยำ ข้าวต้ม และข้าวจี่ (ข้าวเหนียวจิ้มไข่ปิ้งไฟร้อนๆ) คณะฯ เดินทางต่อเพื่อไปสัมผัสธรรมชาติ เดินป่าดงดิบ ระยะทาง 400 เมตร รับพลังจากต้นน้ำอันสมบูรณ์แห่งป่าฮาลา-บาลา ชมต้นกะพงยักษ์ ขนาด 27 คนโอบ และทำความรู้จักพรรณไม้นานาพันธุ์ เถาวัลย์ยักษ์ ม่านไม้ที่ห้อยย้อยลงมา และพืชพรรณนานาชนิดระหว่างเส้นทางเดิน เขียวครึ้ม และสดชื่นอย่างมีพลัง


ต้นสมพงยักษ์ แห่งต้นน้ำสายบุรี ขนาด 27 คนโอบ

ออกเดินทางต่อไปสุดเขตประเทศไทย หมุดหมายชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีเพียงรั้วลวดหนามกั้น เพียงมือสัมผัสเอื้อมถึงกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เศรษฐกิจ การค้า ความร่วมมือ ผู้คน สังคม วัฒนธรรม ยังมีอีกหลายเรื่องราวให้เรียนรู้ศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้

 หมุดหมายชายแดนไทย - มาเลเซีย

ตัวแทนชุมชนท่องเที่ยวฯ ผู้นำแถวสอง บรรยายสรุปเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

 อุโมงค์ลำเลียง

จากนั้นเดินทางต่อไปยังอุโมงค์ลำเลียง ตามรอยการทำเหมืองทองคำเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา สัมผัสธรรมชาติ และสายน้ำ และการเดินป่าในช่วงสั้นๆ ที่ต้องระวังทากติดเสื้อผ้า รองเท้ากลับมา เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับการเดินป่า และเรียนรู้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และพรรณไม้นานาพันธุ์

ปิดท้ายครึ่งวันเช้า ด้วยการรังสรรค์เมนูอาหารมื้อเที่ยง อาหารจาก local สู่ fusion ที่ผสมผสานระหว่างอาหารอีสาน กับการรังสรรค์เมนูฟิวชั่นที่ผู้นำแถวสองได้ฝึกปรือจากเชฟอิน แห่ง โลเคิล อร่อย "ปอเปี๊ยะลาบผักกูด" และน้ำจิ้มแจ่ว เครื่องดื่มน้ำใบเตยหอม เพลิดเพลินกับการตกแต่งจานอาหารของตนเองสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน

อาหารจาก local สู่ fusion "ปอเปี๊ยะลาบผักกูด"

บ่าย ชมการแสดงรำเซิ้งร่อนทองจากลูกหลานถิ่นอีสานคนรุ่นใหม่และผู้นำแถวสองกลับคืนสู่บ้าน ท่วงท่าร่ายรำสะท้อนเรื่องราวการเดินทางและความเป็นมาโยกย้ายจากถิ่นฐานทางอีสานมาสร้างชีวิตใหม่ที่นี่ โอกาส และความหวัง วัฒนธรรม เสียงพิณ คลุกเคล้ากับเสียงดนตรี และท่ารำเซิ้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวชุมชนคลายความคิดถึงรากถิ่นอีสานและมุ่งมั่นเพียรพยายามรักษาไว้เพื่อ

ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นใหม่สืบต่อไป เรื่องราวของความเป็นถิ่นอีสานสู่ผืนป่าฮาลา-บาลา เกือบสุดชายแดนใต้ของประเทศ ก่อเกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างรอคอยโอกาสที่จะได้มาเยี่ยมเยือน และสัมผัสวิถีวัฒนธรรมรู้จักสุคิรินมากขึ้นอีกสักครั้ง

ปิดท้ายกิจกรรม นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์การร่อนทองจากสายน้ำที่ไหลมาจากบนภูเขา ผ่านสายแร่ทองคำ ที่ช่วยสร้างและเปลี่ยนชีวิตใหม่แก่ชุมชนแถบนี้ และเป็นที่มาของ "รำเซิ้งร่อนทอง" ท่วงท่าบอกเล่าเรื่องราว วิธีการร่อนทอง และหลังจากเจอสายแร่ทองคำแล้ว นักท่องเที่ยวทดลองมีประสบการณ์ด้วยตนเอง คือ ภาพจำแห่งสุคิริน ถิ่นแดนใต้ที่มีชุมชนชาวอีสานจากที่ราบสูง มุ่งสู่การสร้างชีวิตใหม่ และการก่อเกิดชุมชนท่องเที่ยวต.ภูเขาทอง ที่เชื่อมร้อยความรัก วัฒนธรรมถิ่นฐานบ้านเกิด โอกาสของชีวิต และการอยู่ร่วมในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นวิถีแห่งวัฒนธรรมที่งดงามท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายคนอาจยังรู้สึกกังวลมาวันนี้ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลองอาหารพื้นถิ่น และแนวฟิวชั่นใหม่  สัมผัสวิถีธรรมชาติ วัฒนธรรม และผู้คนชุมชนด้วยหัวใจ เชื่อว่าเมื่อท่านได้มาเยือนแล้วจะหลงรักสุคิริน ไปแล้วจะกลับมาใหม่ กลับไปด้วยความคิดถึง และโอบกอดสุคิรินไว้ในใจตลอดไป

 รำเซิ้งร่อนทองโดยลูกหลานชาวชุมชนท่องเที่ยว ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมร่อนทองกับชุมชนในสายน้ำ

 สรุปงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท่องเที่ยวฯ ก่อนเดินทางกลับ

ภาพ/เรื่อง

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

Copyright by PSU Radio Pattani

5 ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด

แบบสำรวจความคิดเห็น

ตัวอย่างแบบสำรวจ?

สมัครรับข้อมูล

ไม่พลาดทุกข่าวสาร ลงทะเบียนสมัครรับข้อมูลจากเราได้แล้ววันนี้!

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com