N News

ผลิตภัณฑ์กระจูด : สืบสานภูมิปัญญา โครงการศิลปาชีพฯ (ตอนที่ 1)

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ประธานกลุ่มกระจูด บ.ทอนอามาน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส

   ท่ามกลางผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังคงเป็นหลักให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สามารถจุนเจือดูแลครอบครัวได้ พร้อมทั้งการปรับตัวการทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้จะนำทุกท่านมาติดตามเรื่องราวดีๆจาก กลุ่มกระจูด บ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส กันค่ะ

   นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ประธานกลุ่มกระจูด บ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เล่าว่า กลุ่มเริ่มต้นปี 2543 แรงบันดาลใจจากท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ติดตามพระองค์ในครั้งนั้นให้รวบรวมแม่บ้านในชุมชนที่มีฐานะยากจนมาเป็นกลุ่มกระจูด ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีพื้นฐานสายกระจูดอยู่แล้วให้มาเป็นกลุ่ม เพื่อทำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกชิ้นจะส่งเข้าวังสวนจิตรลดา 

แรกเริ่มสมาชิก 15 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้าน ยังไม่มีความเข้าใจว่าทำแล้วจะไปขายที่ไหน พออธิบายให้เข้าใจ มีสมาชิกเข้ามาเพิ่มจาก 15 คน เป็น 30 คน ปัจจุบันสมาชิกลดน้อยลง บางคนก็อายุมากแล้ว บางคนก็เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เลยมีความคิดสร้างทายาท และให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ให้สูญหายไป

"ส่วนใหญ่สมาชิกอายุ 25 ปีขึ้นไป มีการถ่ายทอดความรู้ ให้แก่คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสาน ปัจจุบันสร้างทายาท เราไม่ต้องการให้ความรู้ภูมิปัญญาหายไปกับผู้สูงอายุ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงให้สงวนภูมิปัญญานี้ไว้ เราตั้งใจที่จะสืบสานต่อไป" นางพัชรินทร์กล่าว

   ผลิตภัณฑ์กระจูด วัตถุดิบมากเพียงพอมาจากป่าพรุนิคมบาเจาะ ชาวบ้านที่มีหน้าที่เกี่ยวกระจูด เอามาขายให้ที่กลุ่ม เรารับซื้อไว้ปีต่อปี สมาชิกทำผลิตภัณฑ์ทุกวันที่บ้าน แล้วนำมาส่งให้ที่กลุ่ม มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนอยู่แล้ว เป็นลายเสื่อธรรมดา ไม่มีลาย ไม่มีดอก เราก็มาฝึกฝนต่อยอดให้ มีวิทยากรจากโครงการ หน่วยงานต่างๆมาช่วยสอนต่อยอดผลิตภัณฑ์แก่สมาชิกได้พัฒนาทักษะฝีมือ

   ผลิตภัณฑ์ที่ทำมีกระเป๋าหิ้ว กระเป๋าสะพาย กระบุง ถาดผลไม้ ตะกร้ากลม ตะกร้าเหลี่ยม กล่องใส่ทิชชู เป็นต้น ผลงานทั้งหมดส่งเข้าวังสวนจิตรลดา ส่งไปเป็นกลุ่มผ่านเหล่ากาชาดจังหวัด จ.นราธิวาส เงินจะได้ 2-3 เดือน โดยวังสวนจิตรลดาส่งเงินมาผ่านเหล่ากาชาดจังหวัด แล้วนำมาแบ่งปันให้แก่สมาชิก

"จากเดิมที่เป็นเพียงอาชีพเสริม ตอนนี้เป็นอาชีพหลักอยู่ใต้โครงการศิลปาชีพฯ ซาบซึ้งในพระเมตตาที่ทรงให้ความช่วยเหลือจัดตั้งเป็นมูลนิธิศิลปาชีพ จากคนที่ไม่มีบ้านอยู่ เคยอยู่กระต๊อบเป็นกระท่อม พอได้ถวายงานได้มีเงินสร้างบ้าน ส่งลูกเรียนสูงๆจนจบปริญญาได้ทำผลิตภัณฑ์ส่งให้มูลนิธิศิลปาชีพอย่างต่อเนื่อง สมาชิกตั้งใจสืบสานตามรอยพระองค์เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของกระจูดไว้ไม่ให้สูญหาย จะถ่ายทอดจากคนรุ่นสู่รุ่นสืบไป ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงอยู่กับประชาชนนานๆตลอดไป" นางพัชรินทร์กล่าวในที่สุด

 

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุม.อ.ปัตตานี

เรียบเรียง

 

ขอบคุณภาพ :

กลุ่มกระจูด บ.ทอนอามาน

ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส

สนใจผลิตภัณฑ์กลุ่ม ติดต่อได้ที่

086-289-6671

 

5 ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด

แบบสำรวจความคิดเห็น

ตัวอย่างแบบสำรวจ?

สมัครรับข้อมูล

ไม่พลาดทุกข่าวสาร ลงทะเบียนสมัครรับข้อมูลจากเราได้แล้ววันนี้!

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com