นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดงาน ม.อ.วิชาการ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน แนวคิดในการจัดงาน 50 ปี ม.อ. สืบต่อพระปณิธาน สานประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ “2561 ม.อ.วิชาการ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย การบริการวิชาการ การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ วิทยาการและเทคโนโลยี การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนบูรณาการเพื่อพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนและสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินภารกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายบ่มเพาะคนดี ชี้นำสังคม สั่งสมปัญญา พัฒนางานวิจัย
นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงาน ม.อ.วิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ที่ก่อตั้ง และดำเนินภารกิจด้านการศึกษามา เป็นระยะเวลา 5๐ ปี โดยได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่น ยึดมั่นในพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินภารกิจตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
“เป็นโอกาสดีอีกวาระหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ สังคม และชุมชนได้ประจักษ์ถึงผลงานด้านวิชาการ งานวิจัย การบริการวิชาการ การเผยแพร่ผลงานด้านวิทยาการและเทคโนโลยี การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมตลอดจนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับ Thailand 4.0 การให้ความร่วมมือกับภาคสังคม และประชาคมในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความใกล้ชิดและเกิดสัมพันธภาพอันดีกับชุมชนมากขึ้น”นายวีรนันทน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากเปิดงาน ประธานในพิธีและผู้ร่วมงานได้นั่งรถรางจากอาคารสำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ไปชมนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงาน ม.อ.วิชาการ ณ อาคารเรียนรวมตึก 19 ภายในวิทยาเขตปัตตานี กิจกรรมที่น่าสนใจในงาน ม.อ.วิชาการ ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิชาการของนักศึกษาและคณาจารย์ การตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเงินอิสลาม การประกวดแผนธุรกิจฮาลาล การประกวดสิ่งประดิษฐ์ การอ่านข่าวโทรทัศน์ นักจัดรายการวิทยุ และการออกแบบสิ่งประดับแฟชั่นเครื่องแต่งกายจากสิ่งเหลือใช้ในสถาบันการศึกษา โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพการพึ่งตนเองทางสุขภาพของประชาชนในภาวะฉุกเฉิน การประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว การเสวนาเรื่องผ้าท้องถิ่นกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเปิดโลก Internet of Thing นิทรรศการ Application เพื่อการจัดการเรียนการสอน และนวัตกรรมเทคโนโลยีการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นิทรรศการเกี่ยวกับสันติวิธีและมนุษยชน ตลอดจนการสาธิตเรื่อง “ข้าวลูกปลา” การแปรรูปข้าวลูกปลา ซึ่งข้าวพันธุ์ท้องถิ่น บ้านป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และการแกะแม่พิมพ์ไม้สำหรับผลิตผ้าบาติก เป็นต้น
ด้านนายศุภชัย สร้อยจิต อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า ในงานม.อ.วิชาการครั้งนี้ได้นำเสนอผลงานจากการทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ผ้าบาติกสีคราม มิติความงามวิถีปัตตานี สู่งานศิลปะ” จัดแสดงผลงานผ้าบาติกสีคราม กระบวนการขั้นตอนการในการทำ นิทรรศการความรู้เรื่องพืชคราม และการก่อหม้อคราม ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ จัดแสดงให้ชมบริเวณหน้าห้องประชุม ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานีเพื่อนำสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชน
“แนวความคิดเริ่มจากผลงานของตน นำมาต่อยอดเป็นปัตตานี Heritage สร้างนักธุรกิจหน้าใหม่ ผลงานมีผ้าบาติกสีคราม สีธรรมชาติหมักโคลน จากอดีตจะเห็นว่าปัตตานีมีครามอยู่มากเคยส่งขายให้กับโปรตุเกส ผ้าบาติกสีธรรมชาติหมักโคลน จะใช้โคลนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ส่วนลวดลายผ้าอยู่ในช่วงทดลอง หลังจากนี้จะนำลวดลายของพื้นถิ่นปัตตานีมาออกแบบลวดลายใหม่ คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มบาติกที่สนใจ กลุ่มที่เคยใช้สีเคมี อยากให้ลองมาศึกษา ร่วมพัฒนาผ้าบาติกไปด้วยกันเพื่อหวนคืนสู่วิถีดั่งเดิม การใช้สีธรรมชาติให้ยั่งยืนคู่กับปัตตานี”นายศุภชัย กล่าว
ด้านนางสาวกัญญาพิศ จันทร์โพธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า การจัดงานม.อ.วิชาการคึกคักและได้รับประโยชน์มาก ตนสนใจเรื่องความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปชมผลงานการจัดแสดงทางวัฒนธรรมในหอศิลป์ภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และร่วมกิจกรรมการ Book Clinic เข้าเล่มและทำปกรายงาน “งาน ม.อ.วิชาการเป็นประโยชน์มาก ได้ความรู้ สามารถเอาไปใช้กับการเรียนและการทำงาน และได้เรียนรู้เรื่อวัฒนธรรมในพื้นที่”นางสาวกัญญาพิศ กล่าว
สำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี[/caption]
ด้านนางสาวนิชานันท์ หวังนุรักษ์ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลงานโครงการ สำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนร่วมกับสำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี จัดแสดงสาธิตตัวอย่าง โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกระบวนการทำงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และแผงโซล่าเซลล์ มีอาจารย์และผู้สนใจมาสอบถามพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง
“การจัดงานม.อ.วิชาการมีความคึกคัก และเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะช่วงพิธีเปิดงานวันแรก ส่วนวันที่สองก็ยังมีคนสนใจอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ที่มาสอบถามสนใจเรื่องระบบการทำงาน การติดตั้ง และทุนที่ใช้ เรามีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ หรือถ้าใครสนใจชมตัวอย่างผลงาน ติดต่อได้ที่สำนักงานพลังงานจังหวัด อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี”นางสาวนิชานันท์ กล่าว