หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ครั้งที่ 9 ยกระดับการทำงานวิจัยในชั้นเรียน พัฒนาเกาหลีศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาในประเทศไทย ฉลองความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ ครบรอบ 65 ปี
รศ.กาญจนา สหะวิริยะ
ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
รองศาสตราจารย์ กาญจนา สหะวิริยะ ประธานหลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ครั้งที่ 9 “The 9th Korean Studies Workshop for Non-Korean Educators 2023” เพื่อยกระดับการทำงานวิจัยในชั้นเรียน พัฒนาเกาหลีศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาแก่ผู้สอนชาวไทย ส่งเสริมการทำงานวิจัยในชั้นเรียน และพัฒนาเกาหลีศึกษาในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร และรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ ครูสอนภาษาเกาหลีชาวไทย และครูสอนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นมัธยมศึกษา รูปแบบการบรรยาย และ กิจกรรม Workshop สนับสนุนงบประมาณโดย มูลนิธิเกาหลีศึกษา Korea Foundation (KF) “ความพิเศษในปีนี้โครงการของเรามีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองสานสัมพันธ์ 65 ปี ไทย-เกาหลี สู่การพัฒนานววิจัยเกาหลีศึกษา ถ่ายทอดภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาแก่ครูผู้สอน พัฒนาการเรียนการสอน ภาพนิ่ง และสื่อเสียง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือและริเริ่มในการจัดสัมมนาของ ม.อ.ปัตตานี ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ประเด็นเนื้อหาที่สำคัญจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและภูมิภาคคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม” รศ.กาญจนา กล่าว
ดร.แทวู คิม
อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
ด้าน ดร.แทวู คิม อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า จุดเด่นของการเรียนการสอนภาษาเกาหลีที่ ม.อ.ปัตตานี คือ อาจารย์ผู้สอนมีประสบการณ์ รุ่นพี่รุ่นน้องมีความสัมพันธ์อันดี และมีทุนสนับสนุนนักศึกษาไทย มีประวัติยาวนานตั้งแต่สถาบันการศึกษาที่เกาหลีส่งนักศึกษามาเรียนปริญญาเอกด้านภาษาไทยที่ ม.อ.ปัตตานี และที่นี่ให้สอนภาษาเกาหลีและวัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนภาษาเกาหลีและวัฒนธรรมที่ ม.อ.ปัตตานี จนมาถึงปี พ.ศ.2544 เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาเกาหลีครั้งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันมีนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว 20 รุ่น ทำงานหลากหลายอาชีพ เป็นอาจารย์ ครูผู้สอน ข้าราชการ และทำงานในภาคเอกชน “เรามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ นำมาสู่ความริเริ่มในการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษาเพื่อครูผู้สอนในโรงเรียนในปี 2553 เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านภาษาและเกาหลีศึกษาแก่ครูผู้สอนให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ขณะนั้นมีโรงเรียนระดับมัธยม 15 แห่งเข้าร่วมสัมมนา จากภาคใต้ 13 แห่ง ภาคกลาง และภาคเหนือ 1 แห่ง มีผู้เรียนภาษาเกาหลีแล้ว 4,000 คน ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่ 3 จำนวน 130 แห่งทั่วประเทศ มีผู้เรียนภาษาเกาหลีแล้วรวมกว่า 40,000 คน โดย ม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ริเริ่ม ร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิเกาหลีสนับสนุนทุนในการจัดโครงการสัมมนาเกาหลีศึกษาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9” ดร.แทวู คิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กำหนดจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา ครั้งที่ 9 “The 9th Korean Studies Workshop for Non-Korean Educators 2023” ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการ การจัดบรรยาย โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวเกาหลี คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกิจกรรม Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการทำวิจัยในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา และสร้างความสัมพันธ์อันดีทางวิชาการในสาขาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดการสัมมนาผ่านทางเพจเฟซบุ๊กคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี HUSO PSU-Faculty of Humanities and Social Science แชร์ลิงก์ผ่านเพจสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ติดตามการสัมภาษณ์ สรุปประเด็นที่น่าสนใจตลอดช่วงการสัมมนาผ่านทางเพจเฟซบุ๊กสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
รายงาน