สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดประชุมแนวทางการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการทำธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้
วันที่ 20 ธันวาคม 2564 ณ ห้องประชุม จะบังติกอ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานประชุมแนวทางการการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based) และการส่งเสริม Start -up/ SMEs ในพื้นที่ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างย่านนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสร้างโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงการสร้างแบรนด์พื้นที่ของย่านเมืองหรือระเบียงนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่นให้เกิดกิจกรรมและการลงทุนทางด้านนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม Smart SMEs และวิสาหกิจเริ่มต้น (Start up) ในพื้นที่ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ โดยมีสถาบันการศึกษา และผู้ประกอบในพื้นที่เข้าร่วมประชุม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เริ่มทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับ ศอ.บต.ขยายผลมาทำงานกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มห่วิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลักการสำคัญ คือยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการที่มีความสามารถไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ประสบความสำเร็จได้ ขณะที่ทุกคนกลับมาอยู่บ้าน มาทำธุรกิจ เติบโตได้ หัวใจของเรา คือ นวัตกรรมนำ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวง อว.มาให้และโยชน์ให้สูงสุด ทำให้เกิดธุรกิจ เกิดคนที่สามารถจะจ้างงานได้อยู่กับที่ คือ นวัตกรรมสำหรับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ "จากการประชุมแนวทาง มหาวิทยาลัยสะท้อนมา มี 3 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่นำมาทำเป็นผลผลิต ซึ่งอันนี้ไม่ยากในการสนับสนุนแต่จะยากในการเติบโต ความท้าท้าย คือ โครงสร้างทั้งหลายจะเป็นอย่างไร
2. ประเด็น สังคม มหาวิทยาลัยทำนวัตกรรมทางสังคมจำนวนมาก อะไรโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนนวัตกรรม และ3. start up ที่จะตอบคำถามว่า จะเป็น Start up ในพื้นที่ทำอย่างไร ได้อย่างไร" ดร.พันธุ์อาจ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากการประชุม ทางคณะฯเดินทางต่อไปยังเทศบาลเมืองปัตตานี เพื่อหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เรื่องเมือง ย่านนวัตกรรม ซึ่งเป็นบทบาทของ อปท.ในการทำนวัตกรรมร่วมกัน โมเดลของความร่วมมือ มหาวิทยาลัย เอกชน อปท.และประชาสังคม
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การทำงานของ ม.อ.และสนช.สามารถหนุนเสริมกันได้เป็นอย่างดี คาดหวังว่าจะได้มีความร่วมมือต่อไปเพื่อยกระดับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ "ที่สำคัญ คือ สร้างแพลตฟอร์มต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้านการศึกษา หรือ นวัตกรรมใหม่ ช่วยให้คนทำงานสามารถทำงานได้ราบรื่นได้มากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ได้มาให้ความรู้ในครั้งนี้" ผศ.ดร.อรุณีวรรณ กล่าว
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
Copyright by PSU Radio Pattani