ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ภายใต้ประเด็นหลัก "พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ"
วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ณ ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี นางหทัยกาญจน์ เพชรประวัติ นางสาวเสาวณีย์ ดาโอะ และนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น บุคลากรสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 ภายใต้ประเด็นหลัก "พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ" โดยมีการประชุมและรับรองระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 (คจ.สช.) ดำเนินการประชุม
ภาคบ่าย พิจารณาระเบียบวาระที่ 2 และแสดงถ้อยแถลงร่วมขับเคลื่อนร่างมติ "การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม" โดยนพ.สมชาย พีระปกรณ์ รองประธานคจ.สช.และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 เป็นประธาน
ประเด็นสำคัญ
1.ให้มีหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และไม่มีหลักประกันสุขภาพ
2.พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรเฉพาะ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายให้มีความสามารถในการจัดการปัญหาสุขภาพในภาวะวิกฤต
3.พัฒนารูปแบบและระบบส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อที่เป็นการดำเนินการโดยชุมชน
4.เสริมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย
ระเบียบวาระที่ 3 และแสดงถ้อยแถลงร่วมขับเคลื่อนร่างมติ "การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ" โดยมี นายเจษฎา มิ่งสมร รองประธานคจ.สช.และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 ดำเนินการประชุม
ประเด็นสำคัญ
1.ขอให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารในวิกฤตสุขภาพ โดยกำหนดเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนในระดับชาติ พร้อมกำหนดแนวทางสื่อสารในวิกฤตสุขภาพเป็นการเฉพาะในแผนแม่บท กำหนดแผน 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเกิดวิกฤต ระยะเกิดวิกฤต และระยะหลังเกิดวิกฤต ทั้งแผนระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว พร้อมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน
2.ขอให้ภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการการสื่อสารในวิกฤตสุขภาพ โดยร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นเอกภาพ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน เพื่อรวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลิตสื่อ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลาย ครบถ้วน
3.ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมและทั่วถึงทั้งเชิงประเด็นที่เป็นข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และสำคัญในแต่ละช่วงเวลา และเชิงกลุ่มเป้าหมายที่คลอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ทั้งเชิงรุก และเชิงรับ
4.ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกันให้กับคนในสังคม โดยกำหนดให้มีการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
5.ขอให้ภาครัฐคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และทันเวลา โดยเปิดช่องทางการสื่อสารไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องด้วยข้อมูลที่ตรงกันและเป็นเอกภาพ
6.ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการกำกับทิศทางและความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในวิกฤตสุขภาพในสังคมโดยบังคับใช้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เป็นธรรม รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ในการจัดการกับข่าวลวง ข่าวปลอม และการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อการสื่อสารของภาครัฐ ตลอดจนการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของทุกคนในสังคม ทั้งนี้ให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน
7.ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ โดยกำหนดแนวปฏิบัติในการปฏิบัติงานสำหรับสื่อในวิกฤตสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อกำหนด ข้อพึงปฏิบัติ ข้อห้ามปฏิบัติ และบทลงโทษที่ชัดเจน เมื่อมีการฝ่าฝืนตลอดจนกำหนดแนวทางส่งเสริมสนับสนุนสื่อให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ และกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
8.ขอให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ในการเสริมสร้างให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปอย่างมีจริยธรรม มีคุณธรรม และไม่ขัดกับหลักกฎหมายของบ้านเมือง ทั้งการสื่อสารผ่านสื่อเดิม สื่อใหม่ และสื่อบุคคล และสร้างการรู้เท่าทัน ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชนโดยถ้วนหน้า
9.ขอให้ศูนย์บัญชาการด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ การประเมินผล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา และถอดบทเรียนการทำงานอย่างเป็นระบบ
10.ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และครั้งที่ 16
ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 จัดในรูปแแบบ Onsite ณ หอประชุมใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สำนักงานแจ้งวัฒนะ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม.และ Online ผ่านระบบ Zoom โดยผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ และหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายกล่าวถ้อยแถลงร่วมสนับสนุนร่างมติดังกล่าว จากนั้นรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 ทั้ง 3 มติ และปิดการประชุม
ภาพ/ข่าว
ทีมข่าวสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
รายงาน