ข่าวเด่นประจำวัน

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากนักวิจัย Peace Survey ครั้งที่ 7 แลกเปลี่ยนประเด็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งเป้าแผนบรรลุข้อตกลงภายในปี 2567 ได้รับการรับรองจากการพูดคุยทั้ง 2 ฝ่าย

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากนักวิจัย Peace Survey ครั้งที่ 7 แลกเปลี่ยนประเด็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งเป้าแผนบรรลุข้อตกลงภายในปี 2567 ได้รับการรับรองจากการพูดคุยทั้ง 2 ฝ่าย มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผนงาน

 

       วันที่ 4 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้สื่อข่าวติดตามการลงพื้นที่ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะ รับฟังการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 7 โดยมี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ จากนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา/ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวสรุปภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรง พัฒนาการ และแนวโน้มของเหตุการณ์ นับตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน ช่วงเหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญที่เป็นข้อสังเกต ช่วงปี 2564-2566 ความรุนแรงที่มุ่งต่อพลเรือนลดลง การโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ถืออาวุธสูงขึ้น การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการปิดล้อมตรวจค้นและนำไปสู่การวิสามัญผู้สงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และไม่ยอมจำนนต่อการปิดล้อม ในผลการสำรวจระบุว่า เป็นความแปรปรวน ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ แม้ความถี่ไม่สูงมาก แต่ช่วงปี 2565 และ 2566 เส้นกราฟของเหตุการณ์ความไม่สงบ มีระดับความเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 80 (มิถุนายน 2565) บางเดือนถึงร้อยละ 118 (พฤษภาคม 2566)

นายฉัตรชัย บางชวด 

รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.

       "ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการพูดคุยสันติภาพ ตั้งแต่ปี 2556 ประสบความสำเร็จในการลดระดับความรุนแรง ถือว่าเป็นการริเริ่มพูดคุยฯ และความต่อเนื่องของกระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จ  แต่ปัจจัยความไม่แน่นอน และความไม่ลงตัวที่เกิดขึ้นในบางครั้งระหว่างกระบวนการพูดคุยที่ไม่อาจตกลงกันได้ว่าจะทำอะไรเป็นรูปธรรม และการที่ยังมีการปฏิบัติการทางทหารของเจ้าหน้าที่และขบวนการอยู่ ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขสะท้อนมาความคิดเห็นของประชาชนด้วยเช่นกัน"  ผศ.ดร ศรีสมภพ กล่าว

       ด้าน ผศ.ดร. กุสุมา กูใหญ่ รองผอ.สถาบันสันติศึกษา กำกับดูแลสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมุมมองต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการในโอกาสครบรอบ 20 ปี สถานการณ์ภาคใต้ 4 มกราคม 2547-2567 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับนักวิชาการทั้งหมดในเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่าย Peace Survey นำเสนอผลการสำรวจ Peace Survey ครั้งที่ 7

       "บรรยากาศในห้องทุกคนให้ความสนใจ มีคำถาม แลกเปลี่ยน เป็นที่น่าสนใจ นำไปศึกษาหาคำตอบต่อไปได้ ครั้งที่ 7 จะมีรายละเอียดของข้อตกลงระหว่าง ผู้เจรจา ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย กับฝ่ายตัวแทนผู้เห็นต่าง จะมีข้อตกลงที่เป็นหมวดหลักๆ อยู่ 3 หมวด คือ  มาตรการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ แนวทางการแสวงหาทางออกทางการเมือง ศึกษาลงรายละเอียดโดยถามประชาชนคิดอย่างไรกับแนวทางอันนี้ที่คณะพูดคุยวางแผนตกลงกันจะคุยเพื่อจะได้เห็นรายละเอียดของประชาชน"  ผศ.ดร.กุสุมา กล่าวกับผู้สื่อข่าว

       ด้านนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พบกับคณะทำงาน Peace Survey มีผลที่เป็นประโยชน์ต่อการพูดคุย ระยะต่อไปของการพูดคุยเป็นแผนสันติสุขอย่างองค์รวม มี 3 ส่วนสำคัญ คือ การลดความรุนแรง หรือยุติความรุนแรง เปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

       "เราได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ประเด็น มีประโยชน์มากจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จะนำความเห็นดังกล่าวมาปรับทั้ง 3 แนวทาง วิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่การทำแผน การขับเคลื่อนไปสู่ข้อตกลงสันติภาพสันติสุขในอนาคต

       "สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้เป็นอย่างดี เป็นพื้นฐานที่ได้จากในพื้นที่โดยตรง การพูดคุยสุดท้ายจะต้องกลับมาสู่ จชต.เพื่อแก้ไขเรื่องภายใน เป็นข้อสรุปที่ได้จากวันนี้" นายฉัตรชัย กล่าวในที่สุด


 

 

ภาพ/ข่าว

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

Copyright by PSU Radio Pattani

 

 

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com