ข่าวเด่นประจำวัน

"ม.9 บ.แหลมนก ต.บานา" เคลื่อนงานประชาชนฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 1ใน 2 ของพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ชาวบ้านตื่นตัวฉีดวัคซีนมาก 80% เพราะติดตามข่าวสาร หวั่นผลกระทบโควิดและเพื่อโอกาสทำงาน

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

   นายอริสมันต์ สะแอเต๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.9 บ.แหลมนก ต.บานา อ.เมือง  จ.ปัตตานี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มาตรการป้องกันโควิด-19 ในหมู่บ้าน เน้นการป้องกัน ทุกคนต้องฉีดวัคซีน จังหวัดตั้งเป้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในพื้นที่ หมู่ 9 ต.บานา มี 350 ครัวเรือน 1,200 คนประชากรที่อยู่ในพื้นที่จริงประมาณ 900 กว่าคน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 800 กว่าคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพียง 7-8 คน เป็นกลุ่มสูงอายุ เนื่องจากหมอวินิจฉัยเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลโรคเบาหวานความดัน สาเหตุที่คนในพื้นที่ตื่นตัวฉีดวัคซีนกันมาก เพราะติดตามข่าวสาร และผลจากพื้นที่ข้างเคียงก่อนหน้านี้มีคนติดโควิดจำนวนมากยอดเป็นหลักร้อย และเสียชีวิตหลายราย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กลัวโควิดจึงต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น

นายอริสมันต์ สะแอเต๊ะ ผบญ.ม.9 บ.แหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี

"รูปแบบการรับวัคซีนของคนในพื้นที่ คือ (1)

จองเองผ่านระบบหมอพร้อม ไปฉีดที่หอประชุม อบจ.ปัตตานี โดยโรงพยาบาลปัตตานี และศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ม.อ.ปัตตานี (2) แจ้งต่อ อสม.และทีมงานผู้ใหญ่บ้าน ผู้สูงอายุแนะให้ไปฉีดที่หอประชุม อบจ.ปัตตานี และศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ม.อ.ปัตตานี และ(3) เก็บตกเดินตามบ้าน แบ่ง 7 โซน สแกนตามซอยต่างๆ ใครฉีดแล้ว ใครยังไม่ได้ฉีด และมีบางส่วนไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีน เป็นส่วนน้อย ข้อมูลตรงนี้ได้ประสานทางอำเภอ และรายงานข้อมูลไปแล้ว" ผบญ.ม.9 กล่าวและว่า

ข้อมูลผู้รับวัคซีนแล้ว กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มี  7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ประมาณ 40% กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี ฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 40% คลอบคลุมทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมประชากรในหมู่บ้านฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 80 %

"ที่นี่กลุ่มเด็กจะเยอะ ช่วงอายุต่ำกว่า 10 ปี นักเรียนวัยประถม ที่ผ่านมา จ.ปัตตานี จัดบริการตรวจเชิงรุกด้วย ATK ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ให้ตรวจหมด และบริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียงได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 5 ราย ส่วนกลุ่มแรงงานในสถานประกอบทางนายจ้างจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากพื้นที่เป็นทางเศรษฐกิจ ที่นี่ชาวบ้านทำอาชีพ ประมงพื้นบ้าน รับจ้างทั่วไป (ในโรงงาน สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ ร้านอาหาร) และประมงเรือใหญ่ 2-3 เดือนจะกลับเข้ามาในพื้นที่" ผบญ.ม.9 บ.แหลมนกกล่าวในที่สุด

   ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวรับวัคซีนมากเพราะติดตามข่าวสาร และพื้นที่ข้างเคียงก่อนหน้านี้มีคนติดโควิดจำนวนมาก และเสียชีวิตสูงเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้คนในพื้นที่มีความต้องการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมาในพื้นที่มีคนติดโควิดจำนวน 10 คน ประกอบกับเหตุผลการประกอบอาชีพ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีโอกาสทำงานได้มากกว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะทำงานในโรงงาน/สถานประกอบการ/ร้านอาหาร หรือแม้แต่รับจ้างทั่วไป รวมทั้งมาตรการการปฏิบัติที่มัสยิด การละหมาดวันศุกร์ มัสยิดในหมู่บ้าน คณะกรรมการ และสัปบุรุษทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน จำกัดจำนวนคน การเว้นระยะห่าง ละหมาดได้เฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนมาตรการการดูแลคนเข้า-ออกพื้นที่ กำหนดทางเข้า-ออกทางเดียว มีมาตรการปฏิบัติที่เคร่งครัด รวมทั้งการเปิดให้บริการพื้นที่สาธารณะ "ลานนกกระยาง" ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนคลาย วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

นายอามีน ทิพย์ยอและ ลูกจ้างร้านอาหาร

นายอามีน ทิพย์ยอและ ลูกจ้างทำงานร้านอาหาร กล่าวว่า ฉีดวัคซีนเข็มแรก AstraZeneca รู้สึกดีที่ได้ฉีด เพราะมีผลต่อการทำงาน เชิญชวนทุกคนมาฉีด

น.ส.ซีตีรอกีเยาะ เปาะจูมะ ลูกจ้างร้านอาหาร

ด้านนางสาวซีตีรอกีเยาะ เปาะจูมะ ลูกจ้างร้านอาหาร กล่าวด้วยเช่นกันว่า ตอนแรกกลัวไม่กล้าฉีด พอฉีดแล้วมีผลค้างเคียงไข้ขึ้น 2 วัน จากนั้นก็เป็นปกติดี คิดว่าฉีดวัคซีนจำเป็น ไปติดต่ออำเภอ หรือติดต่อเอกสารอะไรก็ต้องฉีดวัคซีน  รวมทั้งการทำงานต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดด้วย

นางหล่ำเลาะ เจ๊ะดาโอ๊ะ อายุ 61 ปี ชาวบ้านม.9 บ.แหลมนก  บ.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี

นางหล่ำเลาะ เจ๊ะดาโอ๊ะ อายุ 60 ปีขึ้นไป กล่าวว่า ฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม แล้ว 2-3 วันจากนั้น มีผลข้างเคียง ปวดบริเวณที่ฉีด รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะเป็นไข้ คอยสังเกตอาการอยู่ต่อเนื่อง ไปฉีดที่ศูนย์ฉีดฯ ม.อ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่บริการดี ที่บ้านอยู่กัน 7 คน เด็ก 4 ผู้ใหญ่ 3 ช่วงโควิดระบาดหนักไม่ได้ออกไปไหน ทำงานรับจ้างทั่วไป และงมหาหอยนางรม แกะส่งขายร้านอาหาร พอมีรายได้ ส่วนเปลือกหอยที่แกะ มีคนติดต่อจะรับซื้อ แต่ยังไม่มา เนื่องจากติดสถานการณ์ช่วงโควิด เปลือกหอยที่แกะแล้ว เก็บใส่กระสอบไว้ขาย รับซื้อกิโลกรัมละ 50 สตางค์ กระสอบหนึ่งขายได้ประมาณ 12-13 บาท รายได้พอช่วยจุนเจือครอบครัว

"ตอนนี้กำลังรอบัตรประจำตัวประชาชนที่เพิ่งทำไป อบต.บานา ช่วยดำเนินการให้ กำลังรออยู่เพื่อจะได้ไปตรวจ swab หาเชื้ออีกครั้ง" นางหล่ำเลาะ กล่าว

ภาพ/ข่าว

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

 

Copyright by PSU Radio Pattani

 

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com