"ศูนย์ฝึกจิตอาสา" เริ่มจากแนวคิดที่ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 ต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ "โคก หนอง นา โมเดล" ซึ่งได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ.โคกปาฆาบือซา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้รับการสนับสนุนกำลังพล และเครื่องมือ อุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ จากกรมทหารราบที่ 152 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมี จ.ส.อ.กิตติพงศ์ แก้วจัตุรัส เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการพลเรือน สังกัด ร.153 พัน 2 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นครูพาทำ ขับเคลื่อนงาน
ทั้งนี้ ศูนย์จิตอาสา พล.ร.15 ดำเนินงาน โดยมีนายทหารผู้รับผิดชอบ จากกองทัพภาคที่ 4 ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ บ.โคกปาฆาบือซา ทีมงาน ภาคีเครือข่ายหน่วยงานภายในพื้นที่ จ.นราธิวาส ร่วมกับครูพาทำ และคนงานฟาร์ม ร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรม โดยมีเป้าหมาย กำลังพลจิตอาสา นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ ที่ผ่านมาได้จัดกระบวนการเรียนรู้แก่ครูกศน.นราธิวาส เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อแก่นักศึกษาและผู้สนใจ รวมทั้งได้จัดกิจกรรมแก่ผู้สนใจหลายหน่วยงาน รวมทั้งโครงการค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด (Camp 35) จ.นราธิวาส จำนวน 100 คน เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ซึ่งได้จัดกิจกรรมก่อนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19)
รูปแบบการฝึกอบรม ได้แก่ บรรยายเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ที่มีพระมหากรุณาธิคุณในการช่วยเหลือให้มีงานทำ มีรายได้ เลี้ยงครอบครัว ด้วยการพึ่งพาตนเอง และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บรรยายเรื่องศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ "โคก หนอง นา โมเดล"เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับใช้ในระดับครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสถานีฝึกปฏิบัติตามฐานต่างๆอาทิ
ฐานฅนรักษ์พระแม่โพสพ เรียนรู้เรื่องการทำนาเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้โดยไม่พึ่งพาสารเคมี
ฐานฅนรักษ์น้ำ เรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนต้นแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
ฐานฅนติดดิน เรียนรู้เรื่องการทำบ้านดิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำที่อยู่อาศัย
ฐานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรครัวเรือน การทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ และผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษ ผู้เข้าร่วมกิจรรมจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดดำเนินชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาตนเองลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
"ความมั่งคงทางอาหารสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 เราต้องสร้าง "ความมั่นคงทางอาหารในสภาวะวิกฤต" ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักมากโดยเฉพาะอาชีพรับจ้างทั่วไป คนที่มีรายได้ต่อวัน กระทบหมด การทำเกษตรสามารถช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้ บางคนอาจมองว่าไม่มีที่ทำกิน แต่เราสามารถเข้าถึงผลิตเหล่านั้นได้" จ.ส.อ.กิตติพงศ์ กล่าวและว่า
หลักการความมั่นคงทางอาหาร 4 ประการ 1.ความพอเพียง มีอาหารอย่างพอเพียง และปลอดภัย 2. การเข้าถึง คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน อาจเป็นคนไปรับซื้อจากคนที่ผลิต คนที่ผลิตขายให้ในราคาถูก ส่งต่อไปขาย รายได้ไม่มาก แต่ทำให้เข้าถึงได้ 3.การใช้ประโยชน์สูงสุด ดิน น้ำ ทรัพยากรต่างๆ 4.ความมีเสถียรภาพ วิเคราะห์ได้ว่าพื้นที่ตนเองเหมาะสมปลูกพืชอะไรที่ให้ผลผลิตได้ต่อเนื่อง
"การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่าและเกิดความมั่นคง ตัวอย่างที่เคยไปสอนที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ระหว่างสวนยาง ชาวบ้านเขาปลูกข่า ปลูกตะไคร้ และนำผลผลิตมาใช้ประโยชน์ระหว่างสวนยางจะโต นี่คือตัวอย่างใช้พื้นที่เหมาะสมในการปลูก สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง หรือ พื้นที่ที่เรามีอยู่ได้" จ.ส.อ.กิตติพงศ์ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid -19 ศูนย์ฝึกจิตอาสา และฟาร์มตัวอย่างฯ บ.โคกปาฆาบือซา ได้งดการเยี่ยมชม และกิจกรรมศึกษาดูงานไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ และจะเปิดศูนย์ฝึกดังกล่าว เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภายนอก และประชาชนที่สนใจต่อไป
จ.ส.อ.กิตติพงศ์ แก้วจัตุรัส เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการพลเรือน ร.153 พัน 2 /ครูพาทำ
ภาพ/ข่าว
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุม.อ.ปัตตานี
ขอบคุณภาพประกอบ
ศูนย์ฝึกจิตอาสา พล.ร.15