ข่าวเด่นประจำวัน

โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จัดพิธีกราบลาและกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หลังจบโครงการฯ

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

   วันที่ 5 ตุลาคม 2563 ณ ศาลาทรงงาน ฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จ.ส.อ.กิตติพงศ์ แก้วจตุรัส ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 พร้อมด้วยผู้ร่วมในพิธี พร้อมกันหน้าโต๊ะหมู่พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

    ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำสมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ กราบลาและกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี หลังจากจบโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯต้านภัยโควิด-19 ช่วยเหลือปวงพสกนิกรให้พ้นจากความทุกข์ยาก และมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้า

จากนั้นผู้ร่วมในพิธี ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กราบลา และบันทึกภาพร่วมกัน ณ ศาลาทรงงาน ฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

นางสาวนูรียะ วาเด็ง  สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

    ด้านนางสาวนูรียะ วาเด็ง

    สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 บ.น้ำดำ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯนี้ เฟสแรก จนจบโครงการฯ ได้ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเอง แต่ก่อนไม่มีรู้ด้านการทำเกษตร ได้ความรู้ไปต่อยอดที่บ้าน ได้อนาคต เปลี่ยนชีวิตตนเอง ขอบคุณในหลวง พระราชินี ที่ได้มอบโครงการดีๆนี้ให้ ขอบคุณ ผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ ครูพาทำ และพี่ๆทุกคนที่ถ่ายทอดความรู้ให้

    "ตัดสินใจยึดเป็นอาชีพ จากที่ทำอะไรไม่เป็น ไม่สนใจ ได้เรียนรู้ที่ฟาร์มตัวอย่างฯ มีความคิดน่าสนใจ เช่น การปลูกพืช วิธีการกำจัดแมลง ผสมปุ๋ย สามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้ เหนื่อยบ้างในการทำงาน ทำไปเรื่อยๆก็มีความสุข เช้าตื่นมาทำงานที่ฟาร์ม ตอนเย็นกลับไปช่วยที่บ้าน ผลผลิตที่ได้นำไปขายเป็นรายได้ และแบ่งปันเพื่อนบ้าน "นางสาวนูรียะ กล่าว

นางสาวนูรี วาเด็ง  สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ  บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

    เช่นเดียวกับ นางสาวนูรี วาเด็ง  กล่าวความรู้สึกเช่นกันว่า ภูมิใจที่ได้มาทำงานที่ฟาร์ม เข้ามาทำงานตั้งแต่เฟสแรก จนจบโครงการฯ ได้ความรู้หลายอย่าง สามารถนำไปต่อยอดที่บ้านได้

    "ที่บ้านปลูกผักบุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว รายได้ดี 7-8 พันบาท ต่อเดือน ความรู้ที่ได้จากฟาร์มสามารถถ่ายทอด แบ่งปันแก่คนอื่นได้ แนะให้คนที่มีพื้นที่ว่างๆทำการเกษตร ปลูกผัก มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ขอบคุณในหลวง และพระราชินี ที่ได้มอบโครงการนี้ให้ ช่วยให้มีชีวิตเป็นอยู่ทุกวันนี้" นางสาวนูรี กล่าว

นางสาวต๊อยยีบะห์ แวนิด  สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯบ.น้ำดำ   ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

    ด้านนางสาวต๊อยยีบะห์ แวนิด กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เข้ามาตั้งแต่เฟสแรก จนจบโครงการฯ ได้เรียนรู้หลายอย่าง วิธีการทำร่องปลูกผัก ทำปุ๋ย อยู่มาจนรู้สึกผูกพัน ตั้งใจจะทำงานต่อเพื่อดูแลผลผลิตของฟาร์มต่อไป

    "ประโยชน์ที่ได้จากฟาร์มตัวอย่างฯสามารถนำมาสานต่อที่บ้านได้ ขอบคุณในหลวงและพระราชินี ที่ได้มอบโครงการฯนี้ให้ ขอบคุณผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯ ที่ให้ความรู้ ทำให้ได้เป็นสมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ" นางสาวต๊อยยีบะห์ กล่าว

นางสาวไอเสาะ กูวะ  สมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ  ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

     ส่วนนางสาวไอเสาะ กูวะ ผู้เข้าโครงการฯ เฟสที่ 2 กล่าวว่า ทำงานมารู้สึกภูมิใจได้ความรู้หลายอย่าง เช่น การปลูกผัก รดน้ำ ดูแลผลผลิต ได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชหลายอย่าง สามารถนำความรู้ไปปลูกผักทำที่บ้านได้

    "ได้รับประทานผลผลิตจากฟาร์ม ภูมิใจ ผักบุ้ง เห็ดนางฟ้า มะเขือ ไข่เป็ด มีรายได้เสริมจากการนำผลผลิตจากฟาร์มไปขาย และแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน สิ่งที่อยากได้ คือความรู้เพิ่มเติมนำกลับไปต่อยอดการปลูกผักที่บ้าน" นางสาวไอเสาะ กล่าว

 

นางสาวอาอีเสาะ มีนา  บัณฑิตแรงงาน ประจำ ต.ปุโละปุโย  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

    ด้านนางสาวอาอีเสาะ มีนา บัณฑิตแรงงาน ประจำต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันกับโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ.น้ำดำ เฟสแรก กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบค่าจ้างผู้ร่วมโครงการฯ ต่อคน 300 บาท ทำงานประสานร่วมกัน 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานแรงงาน ประกันสังคม จัดหางาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมาก แต่รับได้จำนวนจำกัด น้องๆมีความสนใจในการทำงานที่ฟาร์ม การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จนจบเฟส จากนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดเข้ามาดูแลต่อ ค่าจ้าง ต่อคน 150 บาทในเฟสที่ 2 และสนับสนุนปัจจัยในการผลิต ร่วมกับทางปศุสัตว์

    "มองว่าความยั่งยืน  คือ การทำให้คนมีงานทำ โดยเฉพาะการเปิดฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาตนเอง ต่อยอดรายได้ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ หลังจบโครงการฯแล้ว ตอนนี้ยังมีคนสนใจถามอยู่เรื่อยๆ เรื่องการมีงานทำ อย่างน้อยช่วยให้มีเขามีรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท /วัน บรรเทาปัญหาผลกระทบว่างงาน ช่วยเหลือตนเองได้" บัณฑิตแรงงานกล่าว

 

ภาพ/ข่าว

พัชรา ยิ่งดำนุ่น

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี

 

ขอบคุณภาพประกอบพิธี

กรมทหารราบที่ 153

 

 

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com