H History

ประวัติความเป็นมา

โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาได้เสนอโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณบดี ครั้งที่ 1/2529 วันที่ 15 มกราคม 2529 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีขึ้น เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ขออนุมัติจัดตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ถูกต้องตามระเบียบ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529

เดิมสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และเมื่อโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้รวมกับหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เป็นสำนักวิทยบริการ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจึงดำเนินการภายใต้การดูแลของสำนักวิทยบริการ และในเดือนตุลาคม 2536 สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้เปลี่ยนมาเป็นองค์กรหนึ่งดำเนินการภายใต้การดูแลของสำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี โดยยังคงใช้พื้นที่บางส่วนของอาคาร 16 เป็นที่ทำการของสถานี

สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) เมื่อวันที่ 9  กันยายน 2530 ให้ใช้ความถี่ 107.25 เมกกะเฮิร์ตซ์ กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ และได้ดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 4,970,000 บาท เริ่มทดลองส่งกระจายเสียงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 และได้ทำพิธีเปิดทำการส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 มีนาคม 2535 โดยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี บางส่วนของจังหวัดยะลา และนราธิวาส รัศมี 60 กิโลเมตรทางอากาศ ในปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำการส่งกระจายเสียงระหว่างเวลา 05.00 -24.00 น. รวมเวลา 19 ชั่วโมง/วัน

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางวิชาการและความรู้ภาษาไทยในลักษณะวิทยุกระจายเสียงแก่ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในท้องถิ่น
  3. เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ภารกิจ และกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่แพร่หลาย
  4. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยได้ผลิตผลงานบทความ สารคดี ความรู้ทางวิชาการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ
  5. เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนในการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงในการพัฒนาการศึกษาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
  6. เพื่อเป็นแหล่งวิชาการให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานด้านวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา

 นโยบายการดำเนินงาน

  1. ให้มีการจัดสัดส่วนของรายการทางด้านความรู้ บริการทางวิชาการ และข่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 35
  2. จัดช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเผยแพร่รายการบริการทางวิชาการ ความรู้ทางวิชาการต่างๆ ศิลปวัฒนธรรม และสุขภาพ
  3. กระตุ้น สนับสนุน และส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยผลิตผลงาน บทความ สารคดี ความรู้ทางวิชาการเพื่อออกอากาศเผยแพร่แก่ชุมชน อันจะช่วยให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น
  4. จัดช่วงเวลาสำหรับประชาสัมพันธ์ภารกิจ และกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้เพียงพอ
  5. ผลิตและเผยแพร่รายการโดยคำนึงถึงคุณภาพ ความทันสมัย และแบบอย่างที่ดีของสังคม
  6. เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติตามหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  7. ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการบริหารงานของสถานีวิทยุ
  8. ให้มีการเช่าเวลาจัดรายการ และโฆษณาสินค้าที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อไม่เป็นภาระต่องบประมาณของมหาวิทยาลัย และเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจอีกส่วนหนึ่งด้วย
ผลงาน

ประเภทรายการที่ออกอากาศ

  1. รายการประเภทความรู้ ร้อยละ 28.20 ประกอบด้วยรายการวิชาการ ประเภทความยาว 25 นาที และความยาว 3-5 นาที โดยออกอากาศทุกวัน เวลา 10.05-10.30 น. เวลา 14.35-15.00 น. เวลา 20.00-20.30 น.   เวลา 20.35-21.00 และเวลา 21.35-22.00 น. ดังนี้
    1.1 เป็นรายการที่มีสาระทางวิชาการที่คณะ ภาควิชา และหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยผลิตขึ้น
    1.2 เป็นรายการที่มีสาระทางวิชาการที่หน่วยราชการภายนอกมหาวิทยาลัยผลิตขึ้น
    1.3  เป็นรายการสาระที่ภาคประชาชนผลิตขึ้นซึ่งเป็นโครงการที่สถานีวิทยุฯ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมใช้สื่อวิทยุตามกฎหมายมาตรา 40
    1.4 เป็นรายการที่กลุ่มเยาวชน นักศึกษา ผลิตขึ้น
    1.5 เป็นรายการที่ถ่ายทอดสด เช่น การอบรม การสัมมนา การอภิปราย ตามที่หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือและสถานีวิทยุพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
  1. ข่าว ร้อยละ 26.92 ประกอบด้วยข่าวจากส่วนกลาง ข่าวต่างประเทศ ข่าวท้องถิ่นและข่าวบริการ
    2.1  เป็นรายการที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีผลิตขึ้นเองได้แก่ รายการรักกันช่วยกัน เวลา 13.10-14.30 น. รายการข่าวท้องถิ่น และข่าวบริการ เวลา 18.05-18.15 น.
    2.2  ถ่ายทอดข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์วันละ 2  ครั้ง เวลา 07.00-08.00 น. เวลา 19.00-19.30 น.
    2.3  ถ่ายทอดข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ทุกต้นชั่วโมง
    2.4  ถ่ายทอดข่าวสดสายตรงจากสถานีวิทยุเสียงอเมริกา (VOA) ประเทศสหรัฐอเมริกา วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.05-06.30 น.
    2.5  สารคดีชุดของฝากจากอังกฤษ เวลา 06.30-07.00 น.

ประเภทรายการที่ออกอากาศ

        -  เป็นแหล่งวิชาการให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจได้ฝึกปฏิบัติงาน ดูงานด้านวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา

         -  ฝึกอบรมโครงการเยาวชนคนรักวิทยุ จัดโดยสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี            สถานีวิทยุฯได้จัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนในการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงในการพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนคือ โครงการเยาวชนคนรักวิทยุ โดยได้ฝึกอบรมไปแล้ว 6 รุ่น จำนวนรุ่นละ 40 คน

         -  งานวิจัยเรื่องความพึงพอใจและความต้องการของผู้ฟัง สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีงบประมาณ 2549 มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพการรับฟัง ความพึงพอใจ และความต้องการของฟังรายการวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง และการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ฟังรายการสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี F.M. 107.25 MHz จำนวน 402 คน คิดเป็นร้อยละ 98.04  ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบของร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

         ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

  1. สภาพการรับฟังรายการของผู้ฟังสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า ส่วนมากเป็นเพศหญิง ร้อยละ 66.9 มีอายุตํ่ากว่า 20 ปี ร้อยละ 54.70
    มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 42.40 อาชีพนักเรียนและนักศึกษา ร้อยละ 58.50 รับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร้อยละ 76.30 เวลาที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟัง เวลา 21.00-24.00 น. ร้อยละ 47.90 สถานที่ที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟังที่บ้าน ร้อยละ 91.50 เหตุผลที่ผู้ฟังชอบเปิดรับฟัง คือเพื่อความบันเทิง ร้อยละ 83.60 นักจัดรายการที่ผู้ฟังชอบฟังมากที่สุดคือ นางสาววิภากร  สุวรรณกูล ร้อยละ 32.00
  2. ความพึงพอใจของผู้ฟังต่อรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า

         2.1 รายการข่าว โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการข่าวต้นชั่วโมง จากกรมประชาสัมพันธ์ อยู่ในระดับมากที่สุด

         2.2 รายการวิชาการ 25 นาที โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อพิจารณารายข้อ
พบว่า รายการสุขภาพดีไม่มีขายและรายการรอบรู้กับ ม.อ. อยู่ในระดับ มากที่สุด           

         2.3 รายการวิชาการ 3 นาที โดยภาพรวมอยู่ระดับ มาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการสุขภาพของเรา อยู่ในระดับมากที่สุด

         2.4 รายการบันเทิง โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการ
เลิฟเรดิโอ เวลา 16.10-17.00 น. ดำเนินรายการโดย นางสาววิภากร  สุวรรณกูล  อยู่ในระดับมากที่สุด

  1. รายการที่ผู้ฟังต้องการให้เพิ่ม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า รายการเพลงและเกมให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม
  2. ข้อเสนอแนะ ควรมีรายการที่เพิ่มพูนความรู้ ทางด้านภาษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลงานการวิจัยการละเล่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ข่าวการศึกษา สาระสุขภาพ การพูดคุยกับผู้บริหาร กิจกรรมนักศึกษา สรุปสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

Contact

สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 MHz
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000
โทรศัพท์ 073 331 277
อีเมล pnpsuradio@gmail.com