ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผอ.สำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโลยี /ผอ.สำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี และหัวหน้าโครงการ PB Watch เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตานี กล่าวว่า วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สัญญาณอันตราย เบื้องต้นสัญญาณหลัก จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูง พิจารณาจากการแพร่ระบาดโควิดปี 2563 ข้อมูลใน 3 ช่วง ช่วงแรกมองว่า แค่เริ่มต้น ประเทศไทยเราเอาจริงเอาจังมาก ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศคนติดโควิดหนักมาก ในประเทศเราคุมได้ จำนวนคนติดเชื้อไม่มาก คนป่วยมา เราจัดการได้คุมจำนวนผู้ป่วยได้ การเสียชีวิตน้อย
ระลอกที่สอง เรายังสามารถจัดการได้ ถือว่า ระลอกแรก กับ ระลอกที่สอง เป็นแบบฝึกหัดให้เรา
มีประสบการณ์ในการรับมือ ส่วนระลอกที่สาม รวดเร็ว ติดเชื้อในวงกว้าง หลายคลัสเตอร์ เป็นความเสี่ยงเพิ่ม ไวรัสสามารถพลิกแพลง กลายตัวเองได้หลายสายพันธุ์ เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันไปข้างหน้า ภาพรวมของประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง สังเกตกราฟของประเทศไทยชัดเจนว่า 3 ครั้งที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ Active ที่อยู่ระหว่างการรักษา เราต้องจัดการเชิงระบบให้ดีเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากขึ้น
"ก่อนคนจะติดเชื้อโควิด เอาเข้าระบบ อันนี้ดี ส่วนคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้เข้าสู่ระบบ เอาไม่ทัน หรือ ติดเชื้อแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือได้ อันนี้ไม่ดี จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเสียชีวิตมาก ตัวอย่างในต่างประเทศ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เขาต้องการเข้าสู่ระบบการรักษา แต่ปริมาณความต้องการ เปรียบเทียบเปอร์เซนต์อาจไม่เยอะ ผู้เสียชีวิตอาจดูน้อย แต่การเสียชีวิตจริงๆอาจไม่ได้น้อยเลย" ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าวและว่า
จำนวนคนที่เสียชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการจัดการ การเข้าถึงระบบการรักษา ปัจจัยสุขภาพของประชาชน ภูมิต้านทานโรค แต่ละคนจะมีโรคอยู่ในตัว เพียงแต่ว่า จะแสดงออกมาหรือไม่ บางคนแข็งแรงปกติดี พอรับเชื้อเข้าไปไม่มีปัญหา บางคนอาจมีอาการป่วย ภูมิคุ้มกันโรคของแต่ละคนไม่เท่ากัน เชื้อโควิดจะโจมตีทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เปิดช่องให้โรคอื่นตื่นขึ้นมา เราอาจไม่อาจทราบชัดเจนว่า โรคที่เรามีทำงานร่วมกับเชื้อโควิดอย่างไร เชื้อไปปลุกโรคเหล่านั้น แสดงผลขึ้นมาด้วยหรือไม่ เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งภูมิคุ้มกันของเราจะบกพร่องวันไหน เราต้องจัดการความเสี่ยง คือ ดูแลสุขภาพของเราเอง ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง การได้รับวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และการป้องกันที่ดีที่สุดเวลานี้ คือ ป้องกันระดับตนเอง และครัวเรือน
"เชื้อโรคอยู่ตรงไหนเราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเชื้อโรคมีความเสี่ยงที่จะอยู่ตรงไหน อาณาเขตบริเวณบ้าน ปลอดเชื้อโรค นอกบ้านมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อโรค จะอยู่และปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ กลับมาจากนอกบ้านต้องทำความสะอาดตัว เสื้อผ้า ไม่เอาเชื้อมาติดคนที่บ้าน ป้องกันตนเอง ป้องกันความเสี่ยง ระมัดระวังไม่ให้เชื้อเข้าจมูก เข้าปาก สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เชื้อโควิดหากสะสมมากพอจะลงปอด เราจัดการตัวเองก่อน พืชสมุนไพรต่างๆ ป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด ดูแลให้จมูกโล่ง ไม่เป็นไข้ ไม่เป็นหวัด ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราสามารถรับมือได้
การรับมือระดับครัวเรือน หากมีการติดเชื้อคนในครอบครัว มีการจัดการระบบภายในที่ดี เราพร้อมหรือไม่ กักตัวผู้ป่วยในบ้านที่เรียกว่า Home Isolation หากเรามีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อมาติดคนที่บ้าน แม้เราได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด บริหารจัดการแผนการรับวัคซีน เตรียมพร้อมระบบภายใน ทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาล ที่นอน ห้องน้ำ ต้องแยก ต้องเตรียม ต้องใช้เต็นท์ หรือแคร่ เตรียมการสำรองไว้ เราสามารถจัดการวิกฤตโควิดภายในครัวเรือนได้ รวมทั้งความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน ระบบการสื่อสาร การป้องกันที่ดี คือ มีความรู้เท่าทัน มีระยะห่าง ล้างมือ สุขภาวะที่ดี อาหาร อากาศ อารมณ์ อนามัย ดูแลจิตวิญญาณ วัคซีนที่สำคัญเวลานี้ คือ รู้เท่าทันโควิด-19 จัดการตนเอง และครัวเรือนให้ปลอดภัย
"การจัดการตนเองหรือครัวเรือนในสถานการณ์โควิด ควรมองถึงการจัดการระยะใกล้และวางแผนการรองรับระยะยาวไว้ด้วย โดยเฉพาะการเตรียมครัวเรือนให้สามารถมีพลังงานใช้ มีน้ำดื่มน้ำใช้ มีอาหารกิน มียาสมุนไพรหรือเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไป และเป็นยารักษาโรค ตลอดจนการเข้าใจรู้เท่าทันโควิด มีความรู้ในการจัดการเตรียมพร้อม ไม่เฉพาะแค่รองรับโควิดเท่านั้น แต่ควรจะรองรับภัยพิบัติได้ รองรับโรคอะไรก็ได้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทำให้การจัดการความพร้อมของตนเองและครัวเรือนแบบองค์รวมรอบด้าน ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติอะไรตามมาเราสามารถจัดการตนเองและครัวเรือนได้ " ผศ.ดร.สมพร กล่าวในที่สุด
พัชรา ยิ่งดำนุ่น
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
เรียบเรียง